Cybersecurity/Privacy Trends

จาก Digital Economy ไปสู่ Data Economy

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 11 กรกฎาคม 2561

ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าชีวิตมีความสะดวกสบาย ซึ่งในความเป็นจริงเรากำลังถูกเทคโนโลยีขั้นสูงวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยโลกกำลังก้าวสู่ Data Economy ซึ่งคนถูกละเมิดความป็นส่วนตัว สิ่งที่รัฐบาลต้องตระหนัก คือการสนับสนุนให้ประชาชนมี “Digital Literacy” เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดแบบไฮเทค

ปัจจุบันคำว่า “Digital Economy” กลายเป็นคำที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว จากที่ Mr. Don Tapscott ได้แต่งหนังสือ “Digital Economy” ไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538  

จนสำนักพิมพ์เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ฉลองครบรอบยี่สิบปีเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งก็คือหนังสือเล่มดัง “Blockchain Revolution : How the Technology Behind Bitcoin Is Changing Money, Business, and the World”

ดังนั้น “Digital Economy” จึงไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด ในปัจจุบันและอนาคต เรากำลังพูดถึง Buzzword คำใหม่ที่กำลังมาแรงนั่นคือ “Data Economy” หรือ “Data-Driven Economy”

ความหมายของ “Data-Driven” หรือ “Data Economy” หมายความแบบง่ายๆ ว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่อุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน หรือโซเซียลมีเดีย

ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น เราใช้งานโปรแกรมโซเซียลมีเดีย และเซิรส์เอ็นจิ้นได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เราส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เห็นด้านมืดของโปรแกรมเหล่านี้ จริงๆ แล้วคำกล่าวที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ยังคงเป็นจริงเสมอ

จึงกล่าวได้ว่า เราใช้ของฟรีก็จริง แต่เรากำลังจ่ายด้วย “ความเป็นส่วนตัวของเรา” (Our Privacy) โดยไม่รู้ตัว

ทำไมถึงเป็นเช่นนี้?

เนื่องจากทุกบริษัทในโลก จำเป็นต้องทำธุรกิจและสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นตามหลักการของโลกทุนนิยม ทุกบริษัทจำเป็นต้องหารายได้และทำกำไรเป็นหลักการพื้นฐาน

บริษัทที่มีความเข้าใจเรื่อง “Data Economy” จะใช้ข้อมูลที่พวกเราป้อนเข้าสู่โปรแกรมต่างๆ ที่ทำงานอยู่บนสมาร์ทโฟนของเราเอง โดยให้ Data Scientist ของบริษัทประยุกต์ใช้เทคโนโลยี “Big Data” และ “Machine Learning” ตลอดจนนำเทคโนโลยี “AI” เข้ามาใช้แทนมนุษย์ในการบริหารจัดการกับข้อมูลในปริมาณมหาศาล

บริษัทใดที่บริหารจัดการข้อมูลได้ดี บริษัทนั้นสามารถ “Make Money” หรือทำกำไรจากข้อมูลที่ตนมีอยู่ได้ มี Competitive Advantage เหนือกว่าบริษัทที่ยังล้าหลังในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

เราจะเห็นได้ว่าสิบปีที่ผ่านมา บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก 5 บริษัทแรก จาก ปี ค.ศ.2001 ถึง ค.ศ.2016 มีการเปลี่ยนแปลงอันดับกันอย่างชัดเจน

โดยในปัจจุบัน บริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ขึ้นมาอยู่ใน 5 อับดับแรกทั้งหมด ดาวรุ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือบริษัท Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google และบริษัท Facebook มีรายได้มหาศาลจากการบริหารจัดการข้อมูลอย่างชาญฉลาด โดยใช้เทคโนโลยีดังที่กล่าวมาแล้ว

ล่าสุดทั้ง Facebook และ Google เพิ่งถูกสหภาพยุโรป (EU) สั่งปรับเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดย Google ถูกตัดสินว่าทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีการที่ปรับเปลี่ยนผลลัพธ์ในการค้นหาข้อมูลที่ทำให้มีบางบริษัทได้ประโยชน์ ได้เปรียบคู่แข่งอย่างไม่เป็นธรรม

และ Facebook เองก็ถูกศาล EU ตัดสินให้จ่ายค่าปรับเนื่องจากมีการแชร์ข้อมูลกันระหว่าง WhatsApp และ Facebook โดยไม่แจ้งให้ EU ทราบตั้งแต่ตอนควบรวมกิจการ

ในปัจจุบัน ทั้ง Facebook และ Google จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลใหม่ของ EU นั่นก็คือ GDPR นั่นเอง

ตัวอย่าง “Data-Driven Economy” ยังมีให้เห็นอีกหลายกรณี จากการที่มีบริษัทเล็กๆ ในอังกฤษได้แก่ บริษัท “Cambridge Analytica” อยู่เบื้องหลังการรับจ้างทำ Data-Driven Campaign ที่มีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ และมีผลต่อการที่อังกฤษแยกตัวเองจากสหภาพยุโรป (Brexit) รวมทั้งมีผลกระทบกับการเลือกตั้งในอีกหลายประเทศ

โดยใช้หลักการวิเคราะห์ข้อมูล “Psychometric” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่“Psychographic ” ควบคู่ไปกับ “Demographic ” ในแบบเดิม มีการนำข้อมูลที่ได้จัดเตรียมไว้และเป็นประโยชน์กับผู้ว่าจ้าง จัดทำแคมเปญปล่อยข้อมูลเหล่านั้นให้ประชาชนเห็นผ่าน Google และ Facebook ตลอดจนสื่อโซเซียลต่างๆ

ทำให้ประชาชนที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นทางการเมือง มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งอย่างชัดเจน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าการใช้เทคโนโลยี Big Data ในแนวนี้ ก็มีด้านมืดที่เราต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เช่นกัน

ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สี จิ้นผิง ได้กล่าวเสมอในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกเกี่ยวกับปัญหา “อธิปไตยไซเบอร์” หรือ “Cyber Sovereignty ” ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ท่านกล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกมีสิทธิที่จะกำหนดนโยบายด้านไซเบอร์ในประเทศของตน เพื่อป้องกันการรุกรานโดยต่างชาติในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้กำลังทางทหารหรือกระสุนแม้แต่เพียงนัดเดียว

แต่เป็นการรุกรานหรือการล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนในประเทศเป้าหมายไม่ได้รับรู้ว่ากำลังถูกรุกรานอยู่

การรุกรานดังกล่าวไม่ต้องใช้กำลังแต่อย่างใด เป็นการรุกรานทางความคิด ความเชื่อ ค่อยๆ ส่งข้อมูลเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชาติเหล่านี้

เราคงเคยเห็นกันจากประสบการณ์ “Arab Spring” ในตะวันออกกลางมาแล้ว มีผลต่อการเลือกตั้ง มีผลต่อการเมืองการปกครอง ภัยจากการรุกรานเข้ามาเปลี่ยนความคิดดังกล่าวนั้น น่ากลัวยิ่งกว่าภัยจากการแฮกของแฮกเกอร์เสียอีก

เนื่องจากแฮกเกอร์จะเข้าระบบเพื่อดึงข้อมูล หรือทำให้ระบบล่ม ที่เราเห็นปัญหามัลแวร์กันอยู่เป็นประจำ

หากแต่การเจาะเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ ให้ปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ทำให้ชอบหรือไม่ชอบ รักหรือเกลียดในบุคคล สินค้าหรือบริการ หรือบริษัทต่างๆ ตลอดจนผู้นำในแต่ละประเทศ มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ตลอดจนส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของชาติหรือ “National Security” ในที่สุด

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการข้อมูลในปริมาณมหาศาลของบริษัทยักษ์ใหญ่ในซิลิกอนวัลเลย์มีการพัฒนาไปค่อนข้างไกลมากกว่าที่เราคิด

ไม่ว่าจะเป็น Big Data Analytics, Machine Leaning, Deep Learning ตลอดจนการนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลแทนมนุษย์

หลายบริษัทนอกจากจะว่าจ้าง Data Scientist แล้วยังมีตำแหน่งที่เราไม่ค่อยเคยได้ยิน คือ “Chief Data Officer” คอยกำหนด “Data Strategy” ให้กับองค์กร คอยดูแลการบริหารจัดการข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ

ทำอย่างไรให้ข้อมูล”ทำเงิน” ให้กับองค์กร ที่เราเรียกว่า “Data Monetization” ทำให้ “Big Data” กลายเป็น “Big Money “

ตลอดจนมีการนำหลักการ “Psychometric” ทางด้านจิตวิทยามาใช้ในการรับรู้และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค

ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์หลายพันล้านคนบนโลกใบนี้ กำลังถูกเทคโนโลยีขั้นสูงวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถล่วงรู้ถึงความคิด พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ สร้างผลกำไรให้แก่บริษัทของตนโดยตรง รวมถึงการส่งข้อมูลมาให้เราได้เห็น ได้รับรู้บนสมาร์ทโฟนอยู่เป็นประจำ

เนื่องจากคนไทยใช้สมาร์ทโฟนถึง 6 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้การโฆษณาสินค้าและบริการได้ย้ายฐานจากสิ่งพิมพ์ตลอดจนวิทยุ โทรทัศน์ เข้าสู่บริการ OTT (Over The Top) บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านทางโซเซียลมีเดียแอปต่างๆ ที่เรารู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line หรือ YOUTUBE กลายเป็น “ New Platform ” ในการทำธุรกิจ ธุรกรรมต่างๆ ของคนทั่วโลกในขณะนี้

About Digital Quotient (DQ)”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยควรจะรับรู้ปัญหาเรื่อง “การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล” ที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ตลอดเวลาบนสมาร์ทโฟน โดยที่เราไม่รู้ตัวหรืออาจไม่ทราบถึงกลเม็ดวิธีการที่แยบยลดังกล่าว

ดังนั้น ประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ควรเข้าใจผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าวในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและประชาชน ดังที่เห็นตัวอย่างในระดับโลกกันมาแล้ว

รัฐบาลในทุกประเทศควรตะหนักถึงผลกระทบดังกล่าวและควรรีบทำการ “Educate” ประชาชนให้มี “Digital Literacy” และมี “ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล” ที่ดี เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการตลาดแบบไฮเทค ที่นับวันจะส่งผลรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เราจึงควรปรับปรุงและทำความเข้าใจเรื่อง “Digital Literacy” และ “Digital Quotient” ให้ถ่องแท้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ให้กับตนเอง ครอบครัว องค์กรและประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเราต่อไป