Cybersecurity/Privacy Trends

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ e-Money Fintech Bitcoin และ Blockchain

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 17 ตุลาคม 2561

ในยุคที่เรากำลังเข้าสู่กระแสของ “Crypto Economy” ที่ควรต้องเร่งศึกษา เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน โดยในเบื้องต้นต้องเข้าใจ e-Money, Fintech, Bitcoin และ Blockchain ให้ถ่องแท้ และเข้าใจสภาพแวดล้อม “Internet of Value” ด้วย

ในปัจจุบันเราได้ยินคำว่า Fintech, Bitcoin และ Blockchain กันอยู่เป็นประจำจากสื่อต่างๆ Mr. Don Tapscott บอกว่า Blockchain กำลังจะมาเปลี่ยนโลกให้เข้าสู่ยุคที่ 2 ของอินเทอร์เน็ต เปลี่ยนจาก “Internet of Information” มาเป็น” Internet of Value” (ดูรูปที่ 2)

ดังที่ Mr. Don Tapscott ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขากับลูกชาย “Blockchain Revolution” (ดูรูปที่ 3) จากคำทำนายถึงการมาของ Digital Economy ในปี ค.ศ.1995 จนถึงปี ค.ศ.2016 เป็นการทำนายอนาคตอีกครั้งกับเทคโนโลยี “Blockchain” ที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันในแวดวงไอทีและสถาบันการเงินทั่วโลกในขณะนี้

e-Money/e-Wallet vs Digital Currency
e-Money/e-Wallet ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ปัจจุบันไม่ได้ทำงานบนเทคโนโลยี Blockchain และไม่จำเป็นต้องใช้เงินในลักษณะ Digital Currency หรือ Cryptocurrency เลย

เนื่องจากระบบ e-Money/e-Wallet ส่วนใหญ่ยังใช้ระบบแบบเดิมอยู่ ได้แก่ ระบบแบบรวมศูนย์ (Centralized System) โดยใช้ศูนย์กลางการประมวลผลจากระบบคอมพิวเตอร์ใน Data Center หรือ Public/Private Cloud ของผู้ให้บริการเอง โดยจะเก็บข้อมูลมูลค่าเงินไว้ในระบบฐานข้อมูลส่วนกลางในรูปแบบเดิม

ปัจจุบัน Digital Currency ที่เรารู้จักกันในนาม Bitcoin, Litecoin หรือ Ethereum นั้นใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการประมวลผลลักษณะแบบกระจาย (Decentralized System)

โดยทุกโหนดใน Decentralized System มีก็อปปี้ของไฟล์ที่จัดเก็บ Blockchain เหมือนกันในทุกๆ โหนดโดยไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลมูลค่าเงินไว้ที่ระบบแบบรวมศูนย์แบบเดิม

แต่ไฟล์ที่เก็บข้อมูลในการทำธุรกรรมต่างๆ จะถูกจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของ Miners ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการประมวลผลและยืนยันธุรกรรมในทุก Transaction ที่เกิดขึ้น โดยมีแรงจูงใจเป็นรางวัลจากการประมวลผลเป็นเงินสกุล Bitcoin

ในกรณีของ Bitcoin Blockchain (Miners as a Transaction Validators) โดยเริ่มต้น Miners จะได้รางวัลเป็นเงินสกุล Bitcoin จำนวน 50 BTC

แต่หลังจากที่คำนวนจำนวน Block ใน Bitcoin Blockchain ไป 210,000 Blocks ใช้เวลาประมาณ 4 ปี รางวัลถูกลดลง 50% เหลือ 25 BTC และเมื่อจำนวน Block ใน Bitcoin Blockchain ถึง 420,000 Blocks ก็จะลดลงอีก 50% เหลือ 12.5 BTC

ปัจจุบันจำนวน Block ใน Bitcoin Blockchain ได้ผ่านหลัก 500,000 มาแล้วในเดือนธันวาคม 2017

รางวัลจากการประมวลผลเป็นเงินสกุล Bitcoin ยังคงมีต่อไปจนกว่าจำนวน Bitcoin จะถึง 21 ล้าน BTC ถึงจะหยุดเพิ่มปริมาณ Bitcoin ในระบบเพื่อป้องกันปรากฏการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าจะถึงในปี ค.ศ.2140 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น (ดูรูปที่ 4)

เราสามารถดูความเคลื่อนไหวได้จาก website http://bitcoinclock.com/ (ดูรูปที่ 5)

เมื่อกล่าวถึงระบบ e-Money/e-Wallet ที่คนไทยรู้จักกันดีภายใต้ชื่อ AIS mPay, Jaew Wallet by DTAC และ wallet by Truemoney (ดูรูปที่ 6) มี e-Wallet ในรูปแบบของโมบายแอปให้เราสามารถชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวก เพราะไม่ต้องใช้เงินสดในการชำระอีกต่อไป

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงเป็นแบบรวมศูนย์ในรูปแบบเดิมดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่สำหรับเงินในรูปแบบของ Digital Currency จะถูกนิยามแตกต่างออกไป โดยมักนิยมเรียกว่า “Virtual Currency” หรือ “Cryptocurrency”

ในบทความนี้ ผมขอกล่าวถึง Digital Currency เฉพาะ “Cryptocurrency” ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ประมวลผลในแบบ Decentralized System โดยไม่จำเป็นต้องมีคนกลางมาบริหารจัดการให้เกิดความเชื่อมั่นของระบบ

ความเชื่อมั่นหรือ “Trust” เกิดจากกลไกการทำงานของเทคโนโลยี Blockchain เราอาจกล่าวได้ว่า “Blockchain ” ก็คือ “Trust Protocol” นั่นเอง

ในปัจจุบันมี Cryptocurrency อยู่ในหลักพันสกุล แต่ที่นิยมใช้และกล่าวถึงกันบ่อยๆ ได้แก่ Bitcoin , Bitcoin Cash และ Ethereum ซึ่งทุกสกุลเงิน Cryptocurrency ที่กล่าวมาแล้ว

ทำงานภายใต้กลไกที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางในรูปแบบการประมวลผลแบบกระจาย และบันทึกลงใน Flat File ที่อยู่ในรูปแบบของบัญชีสาธารณะแบบกระจาย (Public Distributed Ledger)

ตัวอย่าง ทุกคนสามารถขอดูข้อมูลความเคลื่อนไหวของ Bitcoin Blockchain ได้ผ่าน website https://blockchain.info และ https://blockexplorer.com

กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่า “Fintech” ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือชำระเงินด้วย Bitcoin Cryptocurrency เสมอไป

แต่กลุ่มธนาคารและบริษัท Fintech Startup ต่างๆ กำลังสนใจศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain และเงินในรูปแบบ Digital Currency หรือ Cryptocurrency กันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และเรายังได้รู้ความจริงอีกว่า Bitcoin ไม่จำเป็นต้องใช้ในธุรกิจสีเทาหรือตลาดมืดเสมอไป

ตัว Bitcoin Blockchain เอง มีความโปร่งใส (Transparent) ในระดับหนึ่ง เป็นอีกความเข้าใจผิดที่ว่า Bitcoin เป็น Anonymous ควรเรียกว่าเป็น Pseudo-anonymous น่าจะถูกต้องกว่า

เทคโนโลยี Blockchain ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้กับ Fintech Startup เสมอไปและไม่จำเป็นต้องใช้ในการโอนเงิน หรือชำระเงินเท่านั้น

แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย เช่น นำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินที่มีมูลค่าต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น Smart Contract อีกทั้งเงิน Digital Currency ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสกุล BTC เท่านั้น

ดังนั้นเราจึงควรเร่งศึกษาและทำความเข้าใจกับคำว่า Fintech, Bitcoin และ Blockchain ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับกระแส “Crypto Economy” ในอนาคตอันใกล้นี้ ….