Cybersecurity/Privacy Trends

10 แนวโน้ม ทิศทางภัยไซเบอร์ในปี 2019 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 20 กุมภาพันธ์ 2562

ในบทความตอนสุดท้ายนี้ จะได้กล่าวแนวโน้มอนาคตถึง 2 เรื่องอันตราย ที่ควรทราบ เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือ คือ 9. ภัยจากความเข้าใจผิดในเรื่อง “Cryptocurrency” และ “Blockchain” และแนวโน้มที่ 10. ภัยจากการทุจริตในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้มต่อจากบทความตอนที่ 3 คือ

9. ภัยจากความเข้าใจผิดในเรื่อง “Cryptocurrency” และ “Blockchain”

ปัจจุบันทุกคนยอมรับว่า Blockchain เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่กำลังมีอนาคต หลายองค์กรกำลังศึกษาหาทางนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

ขณะที่อีกมุมหนึ่งมีผู้สนใจใน Cryptocurrency ที่เกิดจากการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ สร้างเป็น “Coin” หรือ “Token” ไปจนถึง “ICO” และ “STO” มากมาย จนรัฐบาลในบางประเทศต้องออกกฎหมายมากำกับ ควบคุม หรือส่งเสริมเพื่อให้สอดคล้องกับความนิยม Cryptocurrency ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin หรือ Ethereum ไปจนถึง Cryptocurrency Wallets และ Cryptocurrency Exchanges ต่างๆ อีกมากมาย

หลายท่านยังมีความเข้าใจผิดเมื่อกล่าวถึง “Bitcoin” ก็อาจเข้าใจว่าเป็น “Blockchain”หรือพูดถึง “Blockchain” ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่อง “Bitcoin”

ซึ่งความจริง Blockchain เป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนโลก ขณะที่ Bitcoin เป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นเงินสกุลดิจิทัล Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นมาเป็น Cryptocurrency ที่มีความอิสระไม่ขึ้นกับธนาคารกลางใดและรัฐบาลของประเทศใดในโลกนี้

Cryptocurrency กำลังเป็นเงินสกุลดิจิทัลที่นิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะที่ทำได้อย่างอิสระและรวดเร็ว

หากแต่เทคโนโลยี Blockchain ยังสามารถนำมาทำสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง Cryptocurrency ได้อีกมากมายโดยที่เรายังไม่ได้คิด ถือเป็นเรื่องใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

หลายคนมีความเชื่อว่า จาก Data Economy เรากำลังจะไปสู่ Crypto Economy ในทัศนะของผู้เขียนมีความเชื่อว่า เราคงไปถึง Crypto Economy อย่างแน่นอน หากแต่คงยังไม่รวดเร็วขนาดที่จะเกิดขึ้นใน 2 – 3 ปีข้างหน้านี้

เนื่องจากการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในปัจจุบันยังไม่แพร่หลายในลักษณะ Mainstream ดูจากการพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ขององค์กร ตลอดจนการพัฒนาโมบายแอปที่คนใช้ทั่วโลกยังมีไม่มากนัก

แต่เราจะเห็นการใช้งานในรูปแบบของโปรแกรม Cryptocurrency Wallet ที่นิยมกันมากทั่วโลก เช่น โปรแกรม Coinbase เป็นโมบายแอป Cryptocurrency Wallet ที่ถูกดาวน์โหลดไปใช้ทั่วโลก โดยมีผู้ใช้กว่า 20 ล้านคน

หากแต่ Coinbase ยังไม่ใช่ Blockchain Application อย่างสมบูรณ์ แต่เป็นแอปที่มีการเชื่อมต่อกับระบบ Cryptocurrency อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยน Cryptocurrency ในสกุลที่เรานิยมไม่ว่าจะเป็น Bitcoin Ethereum หรือ เงินสกุลดิจิทัลอื่น เป็นต้น

เราจึงกำลังจับตามอง Blockchain Application ที่กำลังจะถูกปล่อยออกมาให้ได้ใช้งานกันอีกมากมายในอนาคต จนกว่าโลกจะเข้าสู่ Crypto Economy เต็มตัวอย่างที่หลายคนได้ทำนายไว้

10. ภัยจากการทุจริตในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society หากแต่อีกด้านหนึ่งเราพบว่า “Internet Fraud” หรือการฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ตมีสถิติที่เริ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปกับความนิยมในการทำธุรกรรมออนไลน์ของประชาชน ซึ่งนิยมใช้อินเทอร์เน็ตแบงค์กิ้งในการโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการผ่านออนไลน์กันมากขึ้นอย่างมีนัยยะ

สังเกตได้จากการที่ธนาคารหลายแห่งกำลังนิยมปิดสาขาตามเทรนด์ Banking 4.0 กล่าวคือ Banking is everywhere except Bank ผู้คนนิยมทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้นแต่ไม่นิยมไปที่ธนาคาร

แต่เราคงสังเกตได้ว่ามีข่าวคราวที่ประชาชนถูกโกงเงิน หรือเงินหายออกจากบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง ปัญหาก็คือ เรามักคิดว่าความรับผิดชอบในเรื่องนี้ควรจะอยู่ที่ธนาคารทั้งหมด ซึ่งเมื่อเงินหายหรือเราเสียประโยชน์ ก็มักจะร้องขอความเป็นธรรมจากทางการหรือธนาคารในทุกครั้ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใช้จำเป็นต้องปรับแนวคิดและพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าวด้วยตนเอง กล่าวคือ ควรเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า “เรื่องนี้คงไม่เกิดกับเรา” หรือ “มีการป้องกันที่ดีที่สุดแล้ว” มาเป็น “สักวันเรื่องนี้จะเกิดกับเราอย่างแน่นอน” หรือ “ไม่มีการป้องกันใดๆ ที่ได้ผล100%”

ในส่วนของความรับผิดชอบ ควรจะรับผิดชอบร่วมกันระหว่างเรากับสถาบันการเงิน กล่าวคือ เราควรมีการ “บริหารความเสี่ยงด้วยตนเอง” หมั่นสังเกตการเดินบัญชี หมั่นตรวจสอบ Statement สมัคร SMS Alert เปิดวงจรการยืนยันตัวตนแบบสองขั้น

รวมทั้งใช้บัตรเครดิตโดยการเพิ่ม Verified by VISA หรือ Mastercard Secure code ดูแลการตั้งและการใช้รหัสผ่านอย่างปลอดภัย ไม่โหลดโปรแกรมมาใช้ในสมารท์โฟนโดยไม่มีความจำเป็น วางแผนฝากเงินกับธนาคารมากกว่าหนึ่งแห่ง ไม่ทิ้งเงินไว้มากเกินไปในบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีเดบิต

ควรซื้อกองทุนหรือลงทุนในสินทรัพย์อื่น ไม่ควรจะเก็บเงินสดไว้เพียงธนาคารเดียว ควรแยกเก็บเงินสดเพื่อลดและกระจายความเสี่ยง

เพราะธรรมชาติของไซเบอร์ ถึงอย่างไรเราคงหนีไม่พ้นเรื่อง Data Fraud และ Internet Fraud ตลอดจนการโจมตีแบบ Social Engineering เช่น Phishing Attack เพราะผ่านมากี่ปีแฮกเกอร์ก็ยังใช้เทคนิคดังกล่าวอย่างได้ผลเสมอ ทั้งนี้ก็เพราะความไม่ระมัดระวังและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ใช้

ดังนั้น การป้องกันได้ดีที่สุด คือ “การใช้สติ” และ “ความไม่ประมาท” ของตัวเราเอง เราจึงควรเริ่มปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อการทำธุรกรรมทุจริตในอนาคตที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงแต่สามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบลงได้

ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งปี 2019 นั่นเอง