Others

(แนะ) ข้อคิดยุค Digital Commerce “รู้ทันพฤติกรรม กับ ฉลาดช้อป” เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถลดความเสี่ยงทางไซเบอร์ได้ด้วยตนเอง

ทุกวันนี้ การช้อปปิ้งหรือซื้อของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตที่โลกดิจิทัลหมุนรอบตัวเรา บางคนจับจ่ายใช้สอยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ วันละหลายๆ ครั้ง ตอกย้ำว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค Digital Commerce อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสามารถพูดได้ว่าหากผู้ค้ารายใด ไม่ปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย ไม่มีการค้าขายผ่านโลกออนไลน์ ก็อาจจะต้องล้มหายตายจากไปจากแวดวงธุรกิจในไม่ช้า

พฤติกรรมขาช้อปออนไลน์ 

เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ระบบออนไลน์เข้ามาทดแทนการค้าขายในรูปแบบเดิม ทำให้เกิดความเคยชินใหม่ๆ ขึ้น ในที่นี้ขอกล่าวถึง 3 ประเด็นที่เกี่ยวพฤติกรรมขาช้อปออนไลน์ ได้แก่ ความสะดวกรวดเร็ว ความง่าย และความเสี่ยงทางไซเบอร์ 

  • ความสะดวกรวดเร็ว : ผู้คนในยุคนี้ชอบความสะดวกรวดเร็ว ถ้าอะไรที่ไม่สะดวกและช้า คนมักจะเลิกใช้หรือเปลี่ยนใจไปใช้สินค้าหรือบริการจากคู่แข่ง การใช้ชีวิตเสพติด Real Time เรามักจะยอมให้ใช้เวลาในการรอคอยเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น  

ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปใช้แอปหรือแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งแล้วให้กรอกข้อมูลมากมายหรือมีความซับซ้อนต้องใช้เวลามากๆ คนส่วนใหญ่ไม่พยายามที่จะกรอกข้อมูลและไม่พยายามที่จะเข้าไปใช้ ถ้าหากมีทางเลือกอื่นก็มักจะหนีไปแพลตฟอร์มอื่นทันที โดยจะไม่กลับมาหาแพลตฟอร์มที่ยุ่งยากนั้นอีกเลย

  • ความง่าย : ถ้าบนมือถือของเรามีแอปไว้แล้ว และใช้บ่อยๆ เราก็มักจะไม่ต้องใส่รหัสผ่านเพื่อเข้าใช้แอปนั้นๆ ทุกครั้ง เพราะเจ้าของแอปหรือเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการให้ผู้ใช้เข้ามาใช้ได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพราะความยุ่งยากจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าใช้ เนื่องจากเงื่อนไขด้านความสะดวกรวดเร็วดังที่กล่าวมาแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น แอป Mobile Banking ถูกออกแบบมาให้เข้าสู่แอปได้ง่ายเพียงแค่สแกนลายนิ้วมือ หรือใส่รหัสผ่านหน้าจอก็สามารถเข้าถึงแอปได้ทันที คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะใช้รหัสผ่านหน้าจอเพราะ “ง่าย” ต่อการใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากทางพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่ต้องการ การเข้าถึงและการใช้งานที่ “ง่าย” จึงเป็นโจทย์หลักที่ทำให้ผู้พัฒนาแอปต้องตระหนักและสร้างทางเลือกให้สอดรับกับพฤติกรรมดังกล่าว 

  • ความเสี่ยงทางไซเบอร์ : จากพฤติกรรมของคนในปัจจุบันที่ชื่นชอบความสะดวกรวดเร็วและความง่าย ทำให้หลายๆ แอปและแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับอิทธิพลดังกล่าว จึงกลายเป็นการนำมาซึ่ง “ความเสี่ยงทางไซเบอร์” ที่เกิดขึ้นโดยปริยาย 

ยกตัวอย่างเช่น หลายคนมักลืมที่จะตั้งค่ากำหนดวงเงินการโอนต่อวันในแอป Mobile Banking ถ้าอยู่มาวันหนึ่งลูกหลานในบ้านนำมือถือไปใช้แล้วถูกหลอกโอนเงินไปให้มิจฉาชีพที่มักจะมาหลอกให้ลงทุนโดยหลอกว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ การไม่กำหนดวงเงินการโอนต่อวันให้ต่ำไว้ หากมีสถานการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น เงินในธนาคารของคุณก็จะถูกโอนออกไปอย่างง่ายดายภายในวันเดียว ทั้งๆ ที่เป็นความเสี่ยงที่เราสามารถบริหารจัดการได้ 

คำแนะนำ พฤติกรรม Digital Commerce : ลดความสะดวกรวดเร็ว ลดความง่าย เพื่อเราจะได้จัดการกับความเสี่ยงทางไซเบอร์ได้ดีขึ้น

ฉลาดช้อป รอบคอบ แล้วจะปลอดภัย

เมื่อเรารู้ทันพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปจากสภาพแวดล้อมของ Digital Commerce ที่เข้ามาสร้างระบบนิเวศอยู่รายล้อมรอบตัวเรา จากนี้ไปเราจำเป็นจะต้องรู้วิธีที่จะไม่อยู่บนความเสี่ยงกับการจับจ่ายใช้สอยหรือซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

แต่ขอย้ำว่า ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ปลอดภัย เพราะความเป็นจริงนั้นมิจฉาชีพมีวิธีการในการหลอกลวง ต้มตุ๋น หรือแฮกข้อมูล มากมายหลายวิธี จนทำให้เราอาจเผอเรอไปโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ทันคิด

วิธีการที่จะแนะนำในที่นี้ เป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมก่อนที่เหตุจะเกิด เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มความรอบคอบ อันจะนำมาซึ่งความปลอดภัยในทรัพย์สินของเรา นักช้อปทั้งหลายจะได้ช้อปอย่างสบายใจ ด้วย 6 ข้อแนะนำ ดังนี้

1. ไม่ควรผูกบัตรเครดิตไว้กับแพลตฟอร์มใดๆ : 

เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการผ่านระบบออนไลน์เสร็จสรรพเรียบร้อย ก็ไม่ควรที่จะผูกบัตรเอาไว้เพื่อให้ตัดแบบอัตโนมัติ ความเสี่ยงจะตามมาทันที ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ นั่นหมายความว่าคุณอาจจะบังเอิญเผลอไปกดซื้อสินค้าและบริการโดยไม่ได้ตั้งใจก็ต้องจ่ายเงินไปโดยใช่เหตุ หากบังเอิญว่าเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มนั้น ถูกแฮกข้อมูลเลขบัตรเครดิตของคุณรั่วไปพร้อมกับเลข CVV หรือเลขหลังบัตร โดยไม่รู้ตัว ยังไม่ทันได้ระงับบัตรเอาไว้ ความเสี่ยงก็จะตามมาถึงตัวคุณอย่างแน่นอน  

2. ถ้าจำเป็นจะต้องผูกบัญชีให้ใช้ e-Wallet : 

การช้อปด้วย e-Wallet เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีถ้าต้องจ่ายบนระบบออนไลน์ เนื่องจากเราสามารถควบคุมการใช้จ่ายบน e-Wallet ได้ไม่ยาก คือ เมื่อไหร่ที่จะต้องจ่ายเงินค่าสินค้าก็ค่อยโอนเงินเข้าไปใน e-Wallet แล้วกดจ่าย เหลือเงินไว้ใน e-Wallet เพียงไม่กี่บาทก็พอ เมื่อต้องการจะใช้ครั้งต่อไปก็ค่อยโอนเงินเข้าไปใหม่ เพียงเท่านี้คุณก็จะรอดปลอดภัยกับเรื่องเงินๆ ทองๆ 

3. แยกบัญชีธนาคารเป็นบัญชีร้อนและบัญชีเย็นอย่างชัดเจน : 

อีกวิธีหนึ่งของการบริหารความเสี่ยงเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่บางครั้งอาจจำเป็นต้องให้ระบบตัดบัญชีอัตโนมัติ เราควรจะแยกบัญชีธนาคารออกเป็นบัญชีร้อนและบัญชีเย็น โดยบัญชีร้อนในที่นี้หมายถึง บัญชีที่เอาไว้จับจ่ายใช้สอยเอาไว้ช้อปปิ้งหรือนำไปผูกบัญขีเพื่อใช้ในการตัดบัญชี ควรมีเงินคงเหลือไว้ในบัญชีเพียงหลักร้อยหรือหลักพันก็พอ เมื่อไหร่ที่ต้องการใช้ก็ค่อยโอนเข้าไปเป็นครั้งคราว ไม่ควรจะเป็นบัญชีเงินเก็บที่มีเงินอยู่มากๆ ไม่เหมาะสำหรับการผูกบัญขีกับบัตรเดบิต ส่วนบัญชีเย็น หมายถึงบัญชีเงินเดือน บัญชีเงินเก็บที่มีเงินอยู่มากพอสมควร ไม่ควรที่จะนำไปผูกกับการชำระเงินใดๆ ด้วยหลักการนี้จะช่วยบริหารความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง  

4. ตั้งค่าวงเงินการโอนต่อวันในแอป Mobile Banking : 

เรื่องง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้ด้วยปลายนิ้วเพียงไม่กี่วินาที คือการเข้าไปตั้งค่าวงเงินการโอนต่อวันในแอป Mobile Banking โดยการตั้งค่ายอดการโอนในแต่ละวันให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของคุณ แต่หากวันไหนต้องใช้วงเงินสูงขึ้นก็เข้าไปตั้งค่าใหม่ เมื่อใช้เสร็จวันรุ่งขึ้นก็กลับไปตั้งค่ายอดเดิม ถ้ามีโอกาสให้ทำเสียตั้งแต่นาทีนี้จะช่วยให้คุณลดความเสี่ยงลงได้

5. การชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ให้เลือกใช้บัตรเครดิตก่อนถ้าเป็นไปได้ควรมีการใช้ผ่าน OTP ด้วย :

ถ้าต้องชำระเงินผ่านเว็บไซต์หรือระบบออนไลน์ให้เลือกใช้บัตรเครดิตเป็นอันดับแรก เนื่องจากว่ายังมีเวลารอคอยที่จะต้องชำระจริง และอาจสามารถระงับการใช้จ่ายนั้นได้ในกรณีที่เราไม่ได้ใช้ ในทางกลับกันถ้าใช้บัตรเดบิตก็เสมือนการใช้เงินสดที่ต้องชำระในทันที เราไม่สามารถที่จะระงับการใช้จ่ายใดๆ ได้เลย 

6. ตั้งค่าการใช้จ่ายในแอปของบัตรเครดิต : 

คุณสามารถเข้าไปตั้งค่าควบคุมการใช้จ่ายต่างๆ ในแอปของบัตรเครดิตได้ เช่น ตั้งค่ายอดใช้จ่ายสูงสุด

ต่อวัน ตั้งค่ายอดใช้จ่ายสูงสุดต่อครั้ง ตั้งค่าจำนวนครั้งสูงสุดต่อวัน หรือบางบัตรยังให้เลือกว่าจะระงับการใช้บัตรชั่วคราวด้วยปลายนิ้วก็สามารถทำได้ทันที เพียงเท่านี้คุณก็จะลดความเสี่ยงลงได้อย่างมาก และเมื่อไหร่ที่ต้องการใช้วงเงินมากกว่าที่ตั้งไว้ หรืออยากจะเปลี่ยนการระงับการใช้บัตรก็สามารถเข้าไปตั้งค่าใหม่ เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถกลับมาใช้บัตรได้ตามวงเงินที่ต้องการใช้ได้ในทันที  

ทั้ง 6 ข้อแนะนำที่กล่าวมานี้จะช่วยเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยในโลก Digital Commerce โดยเราจะ “รู้ทันพฤติกรรม กับ ฉลาดช้อป” แล้วคุณก็จะสามารถลดความเสี่ยงทางไซเบอร์ เรามาเปลี่ยนตัวเองตั้งแต่วันนี้ และช่วยกันชักชวนคนในครอบครัว เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มาร่วมกันเรียนรู้ไปด้วยกันเพื่ออนาคตที่จะเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ต่อไป