Uncategorized

14 กลโกง สร้างความเสียหายให้คนไทย สูญกว่า 3 พันล้านในเวลาไม่ถึง 4 เดือน

จากสถิติข้อมูลตัวเลขจำนวนการแจ้งความออนไลน์ ผ่านเว็บ https://www.thaipoliceonline.com  โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไม่ถึง 4 เดือน คือระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 27 มิ.ย. 2565 โดยมียอดสะสมสูงถึง 44,144 คดี คิดเป็นความเสียหายกว่า 3,014,394,216 บาท

สรุปรูปแบบการหลอกลวงแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ หลอกลวงด้านการเงิน หลอกลวงจำหน่ายสินค้าข่าวปลอม ล่วงละเมิดทางเพศ และการพนันออนไลน์ โดยประเภทที่มีคดีความมากที่สุดคือ การหลอกลวงด้านการเงิน โดยมีจำนวน 22,561 เรื่อง และลองลงมาคือ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า มีจำนวน 18,358 เรื่อง ดังรายละเอียดในตารางประกอบ

ทั้งนี้พบว่า สถิติการรับแจ้งคดีออนไลน์ในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นทุกเดือน โดยในเดือนมีนาคม มี 8,806 เรื่อง เดือนเมษายน มี 9,553 เรื่อง เดือนพฤษภาคม มี 12,719 เรื่อง และ 1-27 มิถุนายน มี 14,393 เรื่อง โดยจากการประมวลผลพบว่า เป็นคดีที่มีความเชื่อมโยงกันถึง 15,376 เรื่อง และไม่เชื่อมโยงกัน 28,768 เรื่อง

จากปัญหาที่เกิดขึ้นและมีจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นนั้น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กำลังศึกษาแนวทางเพื่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวง MDES ปปง.  กลต. เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ธนาคารแห่งประเทศไทย/สมาคมธนาคารไทย ธนาคารรัฐ/เอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) สคบ. โดยเสนอในเป็นวาระแห่งชาติ

ในขณะเดียวกัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ผบ.ตร. พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ได้ออกเตือนประชาชนเรื่อง 14 กลโกงที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ มีดังนี้ 1. หลอกขายของออนไลน์ 2. คอลเซ็นเตอร์ 3. กู้เงินออนไลน์ดอกเบี้ยโหด 4. กู้เงินออนไลน์ที่ไม่มีจริง 5. หลอกลงทุนต่างๆ ผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง 6. หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ 7. ปลอมโปรไฟล์หลอกให้หลงรัก 8. ส่งลิงก์ปลอม 9. อ้างเป็นบุคคลอื่น 10. ปลอมบัญชีหลอกยืมเงิน 11. ข่าวปลอม 12. หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย 13. โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศ 14. บัญชีม้า ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร

เห็นควรให้ภาครัฐมีหน่วยงานเฉพาะที่มีหน้าที่สร้างความตระหนักรู้ทางไซเบอร์ให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ โดยมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของอาญชญากรรมทางเทคโนโลยี่ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นโดยลำดับ