Cybersecurity/Privacy Trends

“Unknown Unknowns” หลักคิดระดับโลกที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

เพื่อให้ “ตระหนักและเข้าใจ” ความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียวของปัญหาภัยไซเบอร์ที่เราแก้กันไม่ตกเสียที

Unknown Unknowns” คืออะไรและเกี่ยวอะไรกับ “ตระหนักและเข้าใจ” (Aware and Understand) ในบทความนี้จะมาอธิบายหลักคิดในระดับโลก เพื่อให้รับรู้และนำมาใช้ในมิติที่เกี่ยวข้องกับภัยไซเบอร์ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้

ผู้เขียนขออธิบาย “Unknown Unknowns” จากหลักคิดของ Mr. Donald Rumsfeld อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐสองสมัย ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “เราไม่รู้ว่า เรายังไม่รู้อะไรอีกมาก” นั้นมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน มาขยายความให้ผู้อ่านทุกคนได้รู้ลึกเห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น

“Unknown Unknowns” เป็นหนึ่งในสี่ส่วน (ดังภาพประกอบด้านล่าง) คล้ายๆ เมจิกควอตแดนซ์ (Magic Quadrant) ที่การ์ทเนอร์มักจะใช้ในการอธิบายเกี่ยวกับตำแหน่งของสินค้าจากค่ายต่างๆ ที่อยู่ในภาพรวมตลาดทั่วโลก ว่ารายใดกำลังอยู่ในตำแหน่งใดและใครเป็นผู้นำตลาด หากแต่สี่ส่วนของ “Unknown Unknowns” แบ่งออกเป็น 1. Known Knowns 2. Known Unknowns 3. Unknown Knowns 4. Unknown Unknowns   

จากหลักคิดของ Known Unknowns (รู้-ไม่รู้) ที่สามารถบอกได้ว่า สิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ล้วนอยู่ในส่วนหนึ่งส่วนใดใน 4 ช่องของภาพด้านบนนี้ เป็นเรื่องของความตระหนักรู้และความเข้าใจ (Aware และ Understand) ที่แตกต่างและต้องเน้นย้ำว่า ความตระหนักรู้และความเข้าใจนั้นสามารถแบ่งได้ทั้งหมดถึง 4 ประเภทดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพและได้รู้ความหมายที่ลึกซึ้งของทั้ง 4 ประเภท ดังนี้

ตัวอย่างของ COVID-19 ก็คือ วันนี้คนรู้ว่ามีการแพร่ระบาดของโรคนี้ และรู้ว่ามีวัคซีนผลิตออกมาหลายชนิด

  1. Known Knowns สิ่งที่เรารู้แล้วว่าเรารู้ 

คือ สิ่งที่เรารับรู้แล้วว่าเป็นความจริง (Fact) ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สำหรับตัวอย่างของความจริง ดังเช่น คนต้องบริโภคอาหารและน้ำ โลกมนุษย์พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก วัคซีน COVID-19 มีผลิตออกมาหลายชนิด และการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นต้น 

2. Known Unknowns เรารู้แล้วว่าเรายังไม่รู้อะไร

คือ เราได้รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้อะไร ในกรณีของ COVID-19 เรารู้ว่ามีการแพร่ระบาดของโรค มีการผลิตวัคซีนออกมาป้องกันโรคก็จริง แต่วัคซีนก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100% และที่เรายังไม่รู้ก็คือ เราไม่รู้ว่าจะจัดการกับโรคนี้ให้ควบคุมได้ 100% อย่างไร? ยังเป็นคำถามที่เราต้องการหาคำตอบ หรือคนเรารู้ว่าการบริโภคอาหารที่มีวิตามินต่างๆ นั้นดีต่อสุขภาพ แต่ไม่รู้ว่าวิตามินที่มากับอาหารนั้นส่งผลให้ร่างกายของเราแต่ละคนดีขึ้นมากเพียงใด โดย Known Unknowns นั้นจะนำไปสู่การศึกษาวิจัยต่อไป 

3. Unknown Knowns สิ่งที่เรารู้และเข้าใจแล้วแต่ยังไม่รู้ลงไปลึกๆ ว่ามันมีอะไรที่ยังซ่อนอยู่และเรายังไม่รู้อีกหรือไม่ 

เป็นเรื่องที่คนเรารู้และเข้าใจในระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่รู้ตัวเองว่า จริงๆ แล้วยังไม่รู้ในรายละเอียดลึกๆ ว่าจะมีผลกระทบอะไร หรือมีประเด็นอะไรที่มากกว่านั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่า ไม่รู้จักในสิ่งที่คิดว่ารู้แล้วอย่างแท้จริง

ในกรณีของ COVID-19 ขอยกตัวอย่างในเชิงลบที่เกิดกับคนบางกลุ่ม คือ เรารู้แล้วว่า COVID-19 มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง เมื่อมีวัคซีนออกมาก็ไม่ฉีดเพราะเชื่อว่าฉีดแล้วจะเสียชีวิต เรียกได้ว่ามี BIAS ทั้งๆ ที่มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นระบุได้ว่า โอกาสที่จะเสียชีวิตน้อยมากๆ อาจมีเพียงแค่ 0.001% เท่านั้น แต่ก็ยังไม่เชื่อ เพราะเชื่อในความคิดของตัวเอง ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดจากความไม่รู้ว่าตัวเองยังไม่รู้ในข้อเท็จจริงบางประการ หรือการที่เรารู้จักคนๆ หนึ่งมานานแต่เราไม่เคยตระหนักถึงความสามารถที่แท้จริงของคนๆ นั้น 

หรือ เรารู้จักเพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นอย่างดี แต่ไม่รู้ว่าเพื่อนคนนั้นมีคุณลักษณะและทักษะดีๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวเขา เป็นต้น ปัญหาของ Unknown Known คือ การปิดกั้นหรือตั้งกำแพงกับความรู้ใหม่ๆ เพราะคิดว่าตัวเองรู้ และยังมีความเชื่ออีกว่า สิ่งที่ตัวเองรู้ถูกต้องอยู่แล้วทำให้เกิด Cognitive Bias

4. Unknown Unknowns สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้

คือ เราไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ในสิ่งนั้น เรียกได้ว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลย เป็นจุดบอด (Blind Spot) สำหรับตัวอย่างกรณีของ COVID-19 ในเรื่องของ Unknown Unknowns คนไม่รู้ว่าจะมีอุบัติการณ์ COVID-19 ที่อาจติดเชื้อข้ามจากสัตว์มาสู่คน ไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ไม่คิดว่าจะเป็นโรคระบาดที่ระบาดไปทั่วโลก จึงไม่รู้ว่าจะเตรียมการอย่างไร ทั้งหมดนี้เกิดมาจากทั้งไม่ตระหนักรู้และไม่เข้าใจ นับเป็นส่วนที่น่ากลัวที่สุดในสี่ส่วน 

ในที่นี้ ผู้เขียนขอหยิบยกตัวอย่าง Unknown Unknowns ที่เป็นภัยไซเบอร์ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับ ปรากฏการณ์ “Soft Power from Using Half-truth”เป็นการสร้างพลังโน้มน้าวความคิดของคนทีละเล็กทีละน้อย ให้เอนเอียงตามข้อมูลที่ถูกป้อนให้เห็นทาง Social Media ทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง ซ้ำๆ โดยใช้ AI เมื่อเป้าหมายรับรู้เพียงแต่ข้อมูลด้านเดียวที่บิดเบือน (Disinformation) นานๆ เข้า ก็จะเกิดความเชื่อจากที่ช่วงแรกคนรับข้อมูลอาจจะยังไม่ค่อยเชื่อ และเมื่อเริ่มเชื่อ ก็จะยิ่งเสพข้อมูล Half-truth เข้าไปอีก เมื่อเสพข้อมูลที่ถูกป้อนให้นานๆ เข้า อาจทำให้ จากรักกลายเป็นเกลียด จากไม่เชื่อกลายเป็นเชื่อ จากไม่จริงกลายเป็นจริง จนต่อมาอยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องนั้นโดยไม่รู้ว่ากำลังถูกควบคุมความคิดด้วย Soft Power ที่กำลังครอบงำความคิด เรียกได้ว่า “ถูกล้างสมอง” ไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่รู้ตัว หรือที่เราเรียกว่า “Cyber Dominance”

ยกตัวอย่างเช่น มีการปล่อยข้อมูลด้อยค่าวัคซีนจนทำให้หลายคนที่ไม่รู้ว่าเป็นการจัดตั้งขึ้นมา หลงเชื่อข้อมูลที่ถูกบิดเบือนจนต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19 เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันเพราะไม่ไปฉีดวัคซีนที่ถูกด้อยค่าอย่างต่อเนื่อง 

กรณี Unknown Unknowns นับเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด หากเทียบกับอีก 3 ส่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะความไม่รู้ในภัยบางอย่างอาจส่งผลถึงชีวิต

ภัยไซเบอร์ในยุคนี้จึงไม่ได้มาในรูปแบบเดิมๆ ที่มีการถูกโจมตี ถูกแฮกหรือติดไวรัส อีกต่อไป แต่กลายเป็น “การโจมตีที่จิตใจคน” ทำอย่างแยบยลจนคนถูกล้างสมอง จนหลงเชื่อความเชื่อที่ผิดๆ แบบไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ หลักคิดตามแนวทางของ Mr. Donald Rumsfeld ยังสามารถนำไปวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งได้กับสถานการณ์อื่นๆ อีกมากมาย โดยสิ่งสำคัญคือ เราต้องตระหนักรู้และเข้าใจ จึงจะพัฒนาตัวเองไปสู่ Known Knowns ได้ซึ่งนั่นคือ แนวทางที่ดีที่สุด แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องเกิดจากความตระหนักรู้และความเข้าใจก่อนนั่นเอง