Cyber Sovereignty

ไทยพร้อมหรือไม่ กับการโจมตีทางไซเบอร์และการรักษาอธิปไตย (ตอนจบ)

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 22 กรกฎาคม 2563

วิเคราะห์เจาะลึกคำถามที่ว่า ไทยมีความพร้อมในการรับมือการโจมตีทางไซเบอร์และการรักษาอธิปไตยไซเบอร์ของชาติหรือไม่? พร้อมแนวทางแก้ไข และเสนอโครงการนำร่อง ที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่การพัฒนากลยุทธ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติในระยะยาว

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายที่จะนำเสนอถึงปัญหาย่อยอีก 4 กลุ่มสุดท้าย เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า ประเทศไทยจะมีความพร้อมกับการรับมือการโจมตีทางไซเบอร์และการรักษาอธิปไตยไซเบอร์ของชาติ ได้อย่างไร?

จากที่ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอการวิเคราะห์ถึง 6 กลุ่มปัญหาย่อยด้านไซเบอร์ในประเทศไทย ทั้งปัญหาการขาดความเข้าใจถึงผลกระทบจากกระบวนการด้านข่าวสารรูปแบบใหม่ การขาดบุคลากรและหน่วยงานที่จะรับผิดชอบปัญหาด้านไซเบอร์โดยตรง ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเปราะบาง ขาดยุทธศาสตร์ที่จะเข้าบริหารจัดการความเสี่ยง และปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ ในบทความนี้จะกล่าวถึงปัญหาย่อยส่วนที่เหลือ ดังนี้

ปัญหาย่อยที่ 7: ขาดการถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานยุติธรรมในการปฏิบัติและควบคุมการปฏิบัติตามกฎหมาย

(Lack of knowledge transfer to the law enforcement agencies in the implementation and control of legal compliance)

ประเทศไทยมีกฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหลายฉบับ แต่ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก

ในปัจจุบัน ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ ศาล หลายท่านยังขาดองค์ความรู้ทางด้านไซเบอร์ในการพิจารณาคดี ทำให้มีผลต่อการบังคับใช้กฎหมาย

แนวทางในการแก้ปัญหา: การพัฒนาความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายและพัฒนาความสามารถในการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมทั้งการพัฒนาความสามารถของศาลในการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: โครงการพัฒนาบุคลากรด้านตุลาการเกี่ยวกับความเข้าในในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการบังคับใช้กฏหมาย Cybersecurity Act และ Personal Data Protection Act

ปัญหาย่อยที่ 8: ขาดการบูรณาการทั้งองค์กรภาครัฐ ฝ่ายตำรวจ ทหาร พลเรือน และภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(Lack of integration of government organizations, police, military, civilians and various parts of the country in order to prevent and solve cybersecurity problems.)

จากปัญหาที่ประเทศไทยยังไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เกิดการบูรณาการได้ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่ส่งผลเป็นรูปธรรม ไม่เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการรับมือต่อการโจมตีทางไซเบอร์

แนวทางในการแก้ปัญหา: การพัฒนากรอบแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ในระดับประเทศ และการสร้างช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Information Sharing) ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์อย่างเป็นระบบ

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: โครงการบูรณาการในรูปแบบ Joint-force ของหน่วยงานรัฐและเอกชน โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี

ปัญหาย่อยที่ 9: ขาดการพัฒนากรอบความร่วมมือระหว่างประเทศและอาเซียนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(Lack of development of a framework for cooperation between countries and ASEAN in order to prevent and solve cybersecurity problems)

ปัญหาการขาดข้อมูลไซเบอร์เชิงลึก (Cyber Threat Intelligence) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยไซเบอร์ (Cyber Threat Information Sharing) ในระดับประเทศ รวมถึงขาดการถ่ายทอดความรู้และการประสานงานความร่วมมืออย่างเป็นทางการในระดับชาติกับประชาคมอาเซียน

แนวทางในการแก้ปัญหา: การสร้างความร่วมมือขององค์กรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในการจัดการกับปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อย่างเป็นระบบ

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: โครงการสร้างความร่วมมือขององค์กรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในเรื่อง ASEAN Cyber Power on Cybersecurity and Cyber Sovereignty Management

ปัญหาย่อยที่ 10: ขาดการพัฒนาแพลตฟอร์มภายในประเทศเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และอธิปไตยไซเบอร์ในระดับชาติ

(Lack of development of a domestic platform for national cybersecurity and cyber sovereignty)

ปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือ การสิ้นเปลืองงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อนำเทคโนโลยีต่างชาติมาใช้ในประเทศ อาจมีความเสี่ยงต่อการถูกดักข้อมูลเพื่อการทำ Big Data Analytic ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว

แนวทางในการแก้ปัญหา: รัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการพัฒนาแพลตฟอร์มระดับประเทศ โดยเน้นไปที่การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และยังรักษาอธิปไตยไซเบอร์เอาไว้ได้

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: โครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแข่งขันพัฒนาแพลตฟอร์มในระดับประเทศ

10 ปัญหา แนวทางแก้ไข และโครงการนำร่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากประเทศไทยนำไปใช้ ไปปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทุกเรื่อง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว