Cyber Sovereignty

ประเทศไทยมี “อธิปไตยไซเบอร์” ที่แท้จริงหรือไม่?

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 13 มิถุนายน 2561

“Cyber Sovereignty” หรือ “อธิปไตยทางไซเบอร์” ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวว่า กำลังถูกละเมิดอธิปไตยทางไซเบอร์ ซึ่งจะขยายความสูญเสียให้ใหญ่ขึ้นได้อีกในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางดิจิทัล (The Forth Industrial Revolution) ทั่วโลก จากปัจจัยทั้ง 4 ได้แก่ Social, Mobile, Cloud และ Big Data Analytics (S-M-C-I) ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก แบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล-ครอบครัว ระดับองค์กร และระดับประเทศ ไปถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ (National Security)

ปัจจุบันประเทศไทยมีเอกราชและอธิปไตยในดินแดนในเชิงกายภาพ (Physical) แต่เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตและสภาวะไซเบอร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการติดต่อสื่อสารของคนไทยมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟน และโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้นด้วย

การส่งข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนและโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เราใช้งานทุกๆ วันนั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์มหกรรมการเก็บข้อมูลคนไทยเข้าสู่ระบบคลาวด์ เกิดการเก็บพฤติกรรมผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างต่อเนื่องทั้งที่ผู้ใช้ทราบและไม่ทราบ

ข้อมูลที่ถูกเก็บค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็น การจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งการใช้งาน พฤติกรรมการค้นหาข้อมูล (Search Behavior/Search Keyword) พฤติกรรมการเข้าชมภาพยนตร์และวิดีโอ ตลอดจนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เช่น การจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบิน ทำให้ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ตกอยู่ในมือของผู้ให้บริการการค้นหาข้อมูล และผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นคือ “Cyber Sovereignty” หรือ “อธิปไตยทางไซเบอร์” ของผู้คนในประเทศ รวมไปถึงปัญหาความมั่นคงของชาติ (National Security) ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกละเมิดในเรื่อง “Cyber Sovereignty”

เนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ให้บริการที่เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก มีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการขาดรายได้ของรัฐบาลไทยของการจัดเก็บภาษีจากยอดเงินในระดับหมื่นล้านบาท

ดังนั้นการใช้งานโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงจำเป็นต้องใช้งานอย่าง “มีสติ” และ “รู้เท่าทัน” เรียกว่าเราจำเป็นต้องมี “Digital Literacy” ที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่หลงในกระแสโซเชียล ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะรู้เท่าทันภัยมืดดังกล่าว

แม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างเราท่านบางครั้งยังมีความคิดตามไปกับกระแสโซเชียลอันเชี่ยวกรากเสียด้วยซ้ำ ประโยชน์จึงไปตกอยู่ในมือผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาโปรโมทสินค้าและบริการ

เราจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจในสองปรากฏการณ์ดังกล่าว เพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อความเข้าใจที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงและถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างไม่รู้ตัว

“Privacy” กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบันที่กำลังคืบคลานเข้ามาแบบเงียบๆ และจะหนักว่าปัญหาด้าน “Security” ในอนาคตอันใกล้นี้

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นปรับปรุง “Digital Literacy” ในการใช้งานโซเชียลมีเดีย และสมาร์ทโฟนต่างๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันให้ “รู้เท่าทัน” เทคโนโลยีที่กำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกัน

อีกทั้งในมุม “เศรษฐศาสตร์” และในมุม “ความมั่นคงของชาติ” ที่รัฐบาลก็จำเป็นต้อง “ตื่นตัว” และ “ระวัง” ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ประเทศไทยของเราเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่าง มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน สมดังที่ตั้งใจไว้

โดยไม่ลืมว่า Thailand 4.0 จำเป็นต้อง Upgrade Digital Literacy ให้เป็น “คนไทย 4.0” ด้วยเช่นกัน