Cyber Sovereignty

ไทยพร้อมหรือไม่ กับการโจมตีทางไซเบอร์และการรักษาอธิปไตย (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

30 มิถุนายน 2563

วิเคราะห์เจาะลึกคำถามที่ว่า ไทยมีความพร้อมในการรับมือการโจมตีทางไซเบอร์และการรักษาอธิปไตยไซเบอร์ของชาติหรือไม่? พร้อมแนวทางแก้ไข และเสนอโครงการนำร่อง ที่จะนำพาประเทศไทยให้ก้าวสู่การพัฒนากลยุทธ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติในระยะยาว

“ประเทศไทยพร้อมหรือไม่กับการรับมือการโจมตีทางไซเบอร์และการรักษาอธิปไตยไซเบอร์ของชาติ?” เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบคำตอบ ซึ่งจำเป็นต้องวิเคราะห์หาหนทางแก้ปัญหาพร้อมพัฒนากลยุทธ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติในระยะยาวต่อไป

  • ปัญหาแรก: ความไม่พร้อมในการปกป้อง รับมือ และแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ และความไม่พร้อมในรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับประเทศ

(Lack of National Cybersecurity Incident Response Capability and National Cybersecurity Defence Capability)

  • ปัญหาที่ 2: ความไม่พร้อมในการรับมือปรากฏการณ์ “Social Media as a new source of Soft Power” และการรับมือต่อการสูญเสียอธิปไตยไซเบอร์ของชาติ

(Lack of defensive/offensive capability in cyber warfare/hybrid warfare, cybersecurity strategy for protecting cyber sovereignty)

เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกลงรายละเอียดของปัญหา จะพบว่า เราสามารถจัดกลุ่มปัญหา พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมด้วยโครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในอนาคตได้ทั้งหมด 10 ปัญหาย่อย ดังนี้

ปัญหาย่อยที่ 1: ปัญหาอธิปไตยไซเบอร์ การขาดความเข้าใจในผลกระทบจากกระบวนการปฏิบัติการข่าวสารในรูปแบบใหม่

(Cyber Sovereignty problem from using Social Media as a tool for increasing soft power of the adversaries)

ปัจจุบันประชาชนถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางไซเบอร์ และถูกทำให้หลงเชื่อในการโฆษณาชวนเชื่อรายวัน มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว

แนวทางในการแก้ปัญหา: การปรับมุมมองและทัศนคติของประชาชนในเรื่องการปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการใช้ชีวิตในโลกไซเบอร์ของประชาชน

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: โครงการปรับปรุงยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดยสอดคล้องกับบริบทของสภาวะไซเบอร์ในปัจจุบันและอนาคต

ปัญหาย่อยที่ 2: ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ภัยคุกคามไซเบอร์ การโจมตีทางไซเบอร์ต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป

(Rising of Cyber Crime)

ประชาชนส่วนใหญ่ และองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ถูกโจมตีทางไซเบอร์รายวัน ขณะที่ประเทศไทยยังขาดหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระดับชาติ

แนวทางในการแก้ปัญหา: การสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในโลกไซเบอร์

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: เสนอตั้งหน่วยงานรับผิดชอบการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนโดยตรงในรูปแบบ ส.ส.ส. ไซเบอร์ เสนอตั้ง กองบัญชาการ “ตำรวจไซเบอร์” รองรับคดีอาชญากรรมในโลกยุคดิจิทัล

ปัญหาย่อยที่ 3: การขาดแคลนบุคลากรด้านไซเบอร์ในระดับประเทศ ขาดการพัฒนาทักษะความรู้ในระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง ของผู้ปฏิบัติและควบคุมในการปฏิบัติงานด้านไซเบอร์ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ

(Cybersecurity Skill Shortage at National Level)

องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ ส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นและความมั่นคงในระดับชาติ

แนวทางในการแก้ปัญหา: การสร้างระบบการศึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การปรับปรุงคุณภาพของผู้สอนในประเทศ และการตรวจสอบความสนใจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาครัฐและภาคเอกชน

โดยการสร้างระบบการอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ควรมีการทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ภายในองค์กรไปด้วย

โครงการนำร่องที่รัฐควรสนับสนุน: โครงการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับประเทศ

สำหรับปัญหาย่อยที่ 4 – 10 ติดตามต่อในบทความตอนที่ 2 และ 3