Computer Crime Act

เปิดสาระสำคัญกฎหมายคอมพิวเตอร์ (ตอนที่ 7)

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 12 ธันวาคม 2562

ในขอบเขตอํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ได้เพิ่มเติมให้เจ้าพนักงานสามารถนําหลักเกณฑ์ที่กําหนดใน พ.ร.บ. นี้ บังคับใช้ในการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เพื่อดําเนินคดีตามกฎหมายอื่นได้

4. อํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่

เนื่องจากมาตรา 18 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้อํานาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดําเนินการได้เฉพาะกรณีที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น

ทําให้ในกรณีที่เป็นความผิดตามกฎหมายฉบับอื่น ซึ่งมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการกระทําความผิด หรือเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ตํารวจหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่นไม่สามารถใช้อํานาจตามกฎหมายฉบับนี้ได้

ขณะเดียวกันพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่สามารถใช้อํานาจตามกฎหมายฉบับนี้ในการสืบค้นและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนําไปใช้ในคดีอื่นได้ จึงมีการพิจารณาทบทวนเพื่อให้สามารถนําหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กําหนดในกฎหมายนี้ไปใช้ บังคับกับการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดําเนินคดีตามกฎหมายอื่นได้ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้ขั้นตอนและวิธีการในการดําเนินการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นไปโดยถูกต้อง

การกําหนดอํานาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถใช้อํานาจตามกฎหมายที่กําหนดในกรณีที่เป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอื่นได้ด้วยนั้น น่าจะช่วยแก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงไปใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อํานาจตามมาตรา 18 (4)–(8) เนื่องจากกฎหมายฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้ให้อํานาจไว้ ทําให้ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตํารวจต้องเลี่ยงไปใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทน

ซึ่งกลายเป็นว่าไม่ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่กําหนดในกฎหมายฉบับนี้อันก่อให้เกิดผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อตัวผู้ให้บริการ

เช่น การไปยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการตามกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมาตรา 18(4)–(8) นั้น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่า การเก็บรวบรวมหรือหาพยานหลักฐานนั้น ต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถ และต้องรู้กลไกทางเครื่องมือและทางธุรกิจ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งยังมีกระบวนการตรวจสอบโดยศาล

แม้จะกําหนดให้ต้องขอหมายศาลแล้ว กฎหมายไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเข้าค้น

ดังนั้นในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หากต้องเข้าตรวจค้นและยึด ก็จะต้องขอต่อศาลเพื่อออกหมายค้นและต้องขอหมายตามมาตรา 18 อีก ด้วย

นั่นก็ยิ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในกระบวนการอันเป็นหลักประกันได้ว่า กระบวนการจัดเก็บพยานหลักฐานทําโดยมืออาชีพ อยู่บนหลักการ Chain of Custody คือ หลักการห่วงโซ่ในการคุ้มครองพยานหลักฐาน

ซึ่งเป็นหลักประกันในการนําสืบพยานหลักฐานในชั้นศาลที่สร้างความน่าเชื่อถือว่า กระบวนการทั้งหมดมีความน่าเชื่อถือ มีความครบถ้วนและกระบวนการชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้มีความสําคัญเฉพาะคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ดังนั้น หากเอาหลักที่มีอยู่ของกฎหมายฉบับนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับกฎหมายอื่น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เช่น คดีหมิ่นประมาทโดยการโพสต์ในเว็บพันธุ์ทิพย์ จะเห็นได้ว่าไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นเลย

หากเจ้าพนักงานตํารวจไปเก็บพยานหลักฐานโดยวิธีทั่วไป เช่น สั่งพิมพ์ออกมาจากหน้าเว็บ ก็จะกลายเป็นช่องว่างในการยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในการจัดเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และการยกข้อต่อสู้ถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานแล้วจะหาหลักฐานได้อย่างไร และหลักฐานที่ได้มานั้นจะมีความน่าเชื่อถือเพียงใดหากไม่ให้ใช้กระบวนการตามกฎหมายฉบับนี้

หลักการที่นําเสนอขึ้นใหม่โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้อํานาจตามกฎหมายที่กําหนดในการสืบสวนและสอบสวน เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทําความผิดและหาตัวผู้กระทําความผิด สามารถนําไปใช้ในกรณีที่เป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายอื่นได้

และขณะเดียวกันก็ให้อํานาจพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจในการสืบสวนและสอบสวน กรณีมีการกระทําความผิดที่มีระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถดําเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้เช่นเดียวกันนั้น

ซึ่งในหลักการที่นําเสนอนี้ให้อํานาจแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้โดยมีอํานาจตาม มาตรา 18(1)–(3) นั้น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น อาจขาดความรู้ความชํานาญ หรือความเข้าใจในทางเทคนิคที่จําเป็นต่อการปฏิบัติงาน และอาจจําเป็นต้องขอความร่วมมือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ จึงเสนอเปิดช่องไว้เพื่อให้ดําเนินการได้ด้วย

สําหรับการดําเนินการตามมาตรา 18 (4)–(8) นั้น ได้กําหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นต้องร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ดําเนินการ

เนื่องจากกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นและต้องอาศัยความรู้ความชํานาญทางเทคโนโลยี จึงต้องการจํากัดอํานาจของเจ้าพนักงานตามกฎหมายอื่นในการใช้อํานาจตามกฎหมายนี้ โดยกําหนดให้กระทําได้ต่อเมื่อร้องขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนี้ เป็นผู้ดําเนินการ ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ดังนี้ 

ข้อความเดิมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

“มาตรา 18 ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด

(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้มาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้

(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

(3) สั่งให้ผู้ให้บริการส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้บริการที่ต้องเก็บตามมาตรา 26 หรือที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของผู้ให้บริการให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(4) ทำสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จากระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ในกรณีที่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นยังมิได้อยู่ในความครอบครองของพนักงานเจ้าหน้าที่

(5) สั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ ส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

(6) ตรวจสอบหรือเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด อันเป็นหลักฐานหรืออาจใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือเพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและสั่งให้บุคคลนั้นส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็นให้ด้วยก็ได้

(7) ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว

(8) ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทราบรายละเอียด แห่งความผิดและผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 19 การใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดกระทำหรือกำลังจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เหตุที่ต้องใช้อำนาจ ลักษณะของการกระทำความผิด รายละเอียดเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิดและผู้กระทำความผิด เท่าที่สามารถจะระบุได้ ประกอบคำร้องด้วยในการพิจารณาคำร้องให้ศาลพิจารณาคำร้องดังกล่าวโดยเร็ว

เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้ว ก่อนดำเนินการตามคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรเชื่อที่ทำให้ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) มอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ณ ที่นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งมอบสำเนาบันทึกนั้นให้แก่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองดังกล่าวในทันทีที่กระทำได้

ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เป็นหัวหน้าในการดำเนินการตามมาตรา 18 (4) (5) (6) (7) และ (8) ส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาลงมือดำเนินการ เพื่อเป็นหลักฐาน

การทำสำเนาข้อมูลฯ ตามมาตรา 18 (4) ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจการของเจ้าของหรือผู้ครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเกินความจำเป็น

การยึดหรืออายัดตามมาตรา 18 (8) นอกจากจะต้องส่งมอบสำเนาหนังสือแสดงการยึดหรือ อายัดมอบให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์นั้นไว้เป็นหลักฐานแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกิน 30 วันมิได้ ในกรณีจำเป็นที่ต้องยึดหรืออายัดไว้นานกว่านั้น ให้ยื่นคำร้องต่อศาล แต่จะอนุญาตให้ขยายเวลาครั้งเดียวหรือหลายครั้ง รวมกันได้อีกไม่เกิน 60 วัน เมื่อหมดความจำเป็นที่จะยึดหรืออายัดหรือครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องส่งคืนระบบคอมพิวเตอร์ที่ยึดหรือถอนการอายัดโดยพลัน

หนังสือแสดงการยึดหรืออายัดตามวรรคห้าให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ข้อความปรับปรุงแก้ไขใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560

มาตรา 13 ให้ยกเลิกความในมาตรา 18 และมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 18 ภายใต้บังคับมาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ หรือในกรณีที่มีการร้องขอตามวรรคสองให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ เฉพาะที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดและหาตัวผู้กระทำความผิด

(1) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาเพื่อให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งเอกสาร ข้อมูล หรือหลักฐานอื่นใดที่อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้

(2) เรียกข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้บริการเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

กรุณาติดตามต่อในตอนที่ 8