Computer Crime Act

เปิดสาระสำคัญกฎหมายคอมพิวเตอร์ (ตอนที่ 6)

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 27 พฤศจิกายน 2562

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ได้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องการระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ให้ครอบคลุมถึงประเด็นการยกเลิกการระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ไว้ด้วยเช่นกัน 

3. การระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์

ในการดําเนินการเพื่อระงับการแพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือการปิดกั้นเว็บไซต์นั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้กําหนดกระบวนการตรวจสอบการใช้อํานาจในการปิดเว็บไซต์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ตามมาตรา 20

โดยกําหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจร้องขอต่อศาลที่มีเขตอํานาจโดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรี ขอให้ศาลมีคําสั่งระงับการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือสั่งปิดเว็บไซต์ได้

ซึ่งการกําหนดขั้นตอนดังกล่าวในความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ เห็นว่าก่อให้เกิดข้อจํากัดในการดําเนินการ เนื่องจากกระบวนการที่ต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐมนตรี และนําพยานหลักฐานเสนอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําสั่งระงับการเผยแพร่นั้นเป็น กระบวนการที่ทําให้เกิดความล่าช้า

ในขณะที่ฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) มีความเห็นว่า กระบวนการดังกล่าวมิใช่การตรวจสอบการใช้อํานาจของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างแท้จริง

แต่เป็นการกระทำเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้อํานาจ เพื่อละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น Freedom of Speech เป็นต้น

จึงมีการตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า ในกรณีการให้อํานาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นเว็บไซต์ ควรที่จะมีการกลั่นกรองก่อนดําเนินการปิดกั้น และต้องเป็นการดําเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

ซึ่งในเบื้องต้นน่าจะลดประเด็นปัญหาทางปฏิบัติอันก่อให้เกิดความกังวลกับผู้ให้บริการได้ แต่ต้องพิจารณาให้สอดคลองกับรูปแบบในการบูรณาการการทํางานด้วย

และโดยเหตุที่ในปัจจุบันมีการร้องขอระงับการแพร่หลายโดยการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้มีการเพิกถอนการระงับดังกล่าว จึงได้มีการเสนอหลักการเพิ่มเติม เรื่องการยกเลิกการระงับการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อลดภาระแก่ผู้ให้บริการที่จะต้องดูแลรักษาพื้นที่ในฐานข้อมูลดังกล่าว และมิให้เป็นการละเมิดหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลจนเกินสมควร หากปรากฏในภายหลังว่าข้อความหรือข้อมูลดังกล่าวมิได้เป็นการละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในการกําหนดเพิ่มกระบวนการกลั่นกรองและผู้ตรวจสอบก่อนที่จะมีการยื่นคําร้องขอระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ เป็นรายละเอียดในทางปฏิบัติ จึงควรที่จะกําหนดรายละเอียดแยกต่างหาก และเพื่อให้ง่ายต่อการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ดังนี้

ข้อความเดิมในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

“มาตรา 20 ในกรณีที่การกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทําให้แพร่หลาย

 ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กําหนดไว้ในภาคสองลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1  แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคํารองพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้

ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้ระงับการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทําการระงับการทําให้แพร่หลายนั้นเอง หรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้”

ข้อความปรับปรุงแก้ไขในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

 มาตรา 14 ให้ยกเลิกความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน”

มาตรา 20 ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้

(1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กําหนดไว้ในภาค 2 ลักษณะ 1 หรือลักษณะ 1/1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือกฎหมายอื่น ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ

ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจ ขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้

ทั้งนี้ ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยอนุโลมให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคสองขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ แต่ละคณะให้มีกรรมการจํานวนเก้าคนซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้กรรมการได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

การดําเนินการของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้ระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะทําการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเอง หรือจะสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้

ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสําหรับการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยคํานึงถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน พนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งไปก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะยื่นคําร้องตามวรรคสองไปก่อนที่รัฐมนตรีจะมอบหมายก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

กรุณาติดตามต่อในตอนที่ 7