Cyber Sovereignty

บทวิเคราะห์ปัญหาอธิปไตยไซเบอร์ในระดับสากล

ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 14 ตุลาคม 2563

แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสถานที่ ไลฟ์สไตล์ความชอบต่างๆ อิทธิพลจากการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจ ความเชื่อ แนวคิด อุดมการณ์ และอาจทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ ด้วยการให้ข้อมูลด้านลบต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนเกิดความเชื่อในสิ่งนั้น ซึ่งนี้คือ ปัญหาอธิปไตยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในระดับสากล

ปรากฏการณ์ “Digital Transformation” และการเข้าสู่ยุค S-M-C-I (Social-Mobile-Cloud- Information) นำไปสู่การเจริญเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์ม (Platform) 

ซึ่งแพลตฟอร์มไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้าและบริการเอง แต่เป็นการให้บริการอำนวยความสะดวกและเป็นตัวกลางในการทำธุรกิจระหว่างลูกค้ามากกว่าหนึ่งประเภท

ตัวอย่างของแพลตฟอร์มประเภทเครือข่ายสังคม เช่น Facebook, Twitter, Line, Instagram ประเภทค้าปลีก เช่น eBay Alibaba, Amazon ประเภทสื่อ เช่น YouTube ประเภทการชำระเงิน เช่น PayPal, Alipay ประเภทระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟน เช่น iOS, Android ประเภทการท่องเที่ยว เช่น Airbnb และประเภทบริการรถสาธารณะ เช่น Uber, Grab เป็นต้น

นอกจากรูปแบบกระบวนการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว การวิเคราะห์ทางการตลาดยังเปลี่ยนแปลงไปด้วย

จากเดิมที่วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายด้วยหลักประชากรศาสตร์ (Demographic) เช่น อายุ เพศ การศึกษา รายได้ สถานภาพ เป็นการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายด้วยหลักจิตนิสัย (Psychographic) เช่น รูปแบบการดำเนินชีวิต (Lifestyles) ความชื่นชอบ ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น

โดยอาศัยข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของแพลตฟอร์ม (Platform) บนสมาร์ทโฟน หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งทำให้ธุรกิจแพลตฟอร์มมีความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจ

แม้ว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ และสมาร์ทโฟนจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างมหาศาล ด้วยเจตนารมณ์ที่หวังจะส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้ใช้บริการ

แต่ผู้ให้บริการย่อมถูกกดดันด้วยภาวะการแข่งขันของธุรกิจ เพื่อเข้าถึงผู้ใช้บริการให้มากที่สุด จึงสร้างผลเสียต่อประชาชนโดยไม่รู้ตัว

อาทิ การเสพติดดิจิทัล (Digital Addiction) จากอุปกรณ์ดิจิทัลที่เข้ามาครอบงำชีวิตเราในทุกเรื่อง สุขภาพทางจิตใจ (Mental Health) จากความทุกข์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

หรือเรื่องเล่าบนเครือข่ายสังคมโซเชียล และถูกกลั่นแกล้งในเครือข่ายสังคมโซเชียล (Cyber Bullying) การแยกแยะความจริงจากความไม่จริง (Breakdown of Truth) ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

การแบ่งขั้วแยกข้าง (Polarization) ทางอุดมการณ์ ทำให้การสร้างความปรองดองและความร่วมมือในสังคมกระทำได้ยากยิ่งขึ้น และสุดท้ายร้ายที่สุดคือ การชักใยทางการเมือง (Political Manipulation) เพื่อสร้างความขัดแย้งและการทำสงครามไซเบอร์

ผลเสียเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากขีดความสามารถของ “เทคโนโลยี” ที่ก้าวข้ามขีดความสามารถของ “มนุษย์” ซึ่งเข้าใจง่ายกว่า หากพิจารณาจากเทคโนโลยีที่ก้าวข้ามข้อด้อยของมนุษย์ (Human Vulnerabilities)

ในขณะเดียวกันความไม่สอดคล้องกันระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และความสามารถในการตระหนักรู้ของมนุษย์ (Human Sensitivities) ส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึก และการกระทำของมนุษย์

ซึ่งล้วนสร้างผลเสีย เช่น ช่วงความสนใจที่สั้นลง (Attention Span) อย่างการอ่านแค่พาดหัวโดยไม่สนใจรายละเอียด การแข่งขันกันที่ยอดไลค์และยอดแชร์บนโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

นอกจากนี้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาลที่อยู่ในอำนาจการควบคุมของแพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างประเทศ ทำให้ผู้ให้บริการสามารถล่วงรู้ถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตทางดิจิทัล หรือ “Digital Lifestyle” ของผู้ใช้งาน

ในด้านหนึ่งย่อมมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ โดยทำให้ผู้ใช้บริการสามารถได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ และตรงตามความคาดหวัง

ในอีกด้านหนึ่งคือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมหาศาล ผ่าน Google, Facebook ฯลฯ เช่น ตำแหน่งการใช้งาน (Location) พฤติกรรมการค้นหาข้อมูล (Search Behavior) พฤติกรรมการเข้าชมภาพ/วิดีโอ พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เป็นต้น อาจนำไปสู่การส่งผ่านข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติ ความคิดเห็น พฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้ใช้บริการได้โดยตรง โดยที่ผู้ใช้บริการอาจไม่รู้ตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดียมากกว่ากลุ่มอื่น

อิทธิพลจากการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล และโซเชียลมีเดียอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจ ความเชื่อ แนวคิด อุดมการณ์ และอาจทำให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้

เนื่องจากผู้ใช้บริการอาจไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อน รวมถึงสามารถส่งผ่านข้อมูลที่ชักจูงและสร้างกระแสสังคมที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้โดยง่าย จึงถือเป็นการรุกรานทางความคิดต่อประชาชนรูปแบบใหม่ที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติได้

ปัจจุบันการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) ทั้งภาวะปกติและภาวะสงคราม รวมไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองและทางสังคม มักนิยมใช้ไซเบอร์สเปซเป็นช่องทางในการดำเนินการ

โดยการกระจายข้อมูลข่าวสาร เช่น ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว การประชาสัมพันธ์ การโฆษณาชวนเชื่อ เป็นต้น ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Line, Facebook, Twitter เป็นต้น

ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยความรวดเร็วชั่วพริบตา และมีการแชร์ข้อมูลต่อๆ กันไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ทัศนคติ อุดมการณ์ และมีผลต่อการตัดสินใจของคนเป็นจำนวนมาก

จึงก่อให้เกิดปัญหาใหญ่คือ การรุกล้ำ “อธิปไตยไซเบอร์” หรือ “ความเป็นเอกราชทางไซเบอร์” (Cyber sovereignty) ของประชาชนในประเทศ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงของชาติ (National security) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกละเมิดในเรื่อง “อธิปไตยไซเบอร์” เนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต และการใช้งานสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมาก