รู้หรือไม่?? ใช้ Gen AI อย่างไรให้ปลอดภัย
บทความจาก เว็บไซต์ The-prespective.co สัมภาษณ์ อ.ปริญญา หอมเอนก
กูรูแนะแนวทางใช้ AI อย่างปลอดภัยสำหรับองค์กรธุรกิจ บุคคลทั่วไป และความจำเป็นที่ควรมีนโยบายระดับประเทศ
โลกเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามาถึงจุดที่ Generative AI สามารถสร้างเนื้อหา เช่น ข้อความ รูปภาพ เพลง วิดีโอ ชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ได้โดยการเรียนรู้หรือฝึกจากข้อมูลมหาศาล ซึ่งในการนำไปใช้งานมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ทำให้หลายองค์กรตระหนักถึงการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
ในประเด็นนี้ Harvard University Information Technology (HUIT) ได้ออกแนวทางเบื้องต้นสำหรับการใช้เครื่องมือ Generative AI (https://huit.harvard.edu/ai/guidelines) รวมทั้งทำการจำแนกประเภทข้อมูลออกเป็น 5 ระดับ (https://privsec.harvard.edu/data-classification-table) ดังภาพประกอบ

ในบทความนี้ อ.ปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ความเห็นว่า นับจากนี้ไปองค์กร ตลอดจนนโยบายของประเทศควรมีการวางกรอบการใช้งาน AI ให้เข้มงวด เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเผยและละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย และการสร้างควารับผิดชอบต่อการใช้ข้อมูลจาก AI
“จากแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการใช้เครื่องมือ Generative AI ของ HUIT รวมทั้งการจำแนกประเภทของข้อมูล เป็นกรอบปฏิบัติที่องค์กรควรนำไปศึกษา และประยุกต์ใช้เป็นแนวทาง เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการใช้และเปิดเผยข้อมูล”
แต่อย่างไรก็ตาม อ.ปริญญา ยังได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับองค์กรธุรกิจ บุคคลทั่วไป และความจำเป็นที่ควรต้องมีนโยบายระดับประเทศ ดังนี้
คำแนะนำสำหรับองค์กรธุรกิจ
- องค์กรควรออกนโยบายเกี่ยวกับข้อกำหนดของการใช้งาน Gen AI: ปัจจุบันคนส่วนใหญ่อาจจะยังเข้าใจว่าการใช้ AI ในการสร้างข้อมูลนั้นมีแต่เพียงข้อความอย่างเดียว หรือบางคนอาจลืมไปว่า AI สามารถสร้างภาพ เสียง และวิดีโอได้ด้วย ซึ่งผู้ใช้ควรต้องรู้เท่าทัน รู้วิธีการนำข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ และอื่นๆ ไปใช้โดยไม่ละเมิดต่อผู้อื่น และไม่เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือไม่เป็นความจริง
- สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับข้อมูลรั่วจากการใช้ Gen AI: คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า Gen AI ค่ายต่างๆ ทำการเก็บข้อมูลจากการใช้งานของผู้ใช้เพื่อนำไปฝึกให้ระบบมีความฉลาดและแม่นยำมากขึ้น ก่อนหน้านี้เคยมีข่าวดังที่พนักงานบริษัทนำข้อมูลของบริษัทไปถาม Gen AI ทำให้ข้อมูลรั่วไหล สร้างผลกระทบต่อองค์กร ทำให้พนักงานคนนั้นถูกไล่ออกในเวลาต่อมา
- ใช้กลยุทธ์การใช้ Gen AI ให้เป็นผู้ช่วย: แม้ไม่ควรปิดกั้นการใช้ Gen AI ในการทำงานของพนักงาน ดังนั้นองค์กรควรอบรมแนะวิธีการใช้งาน และการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่พนักงาน และลดเวลาในแต่ละภารกิจได้อย่างมาก
คำแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป
- ไม่ละเมิดข้อมูลผู้อื่น: ควรระมัดระวังการนำข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ และสิ่งอื่นใดที่ได้จาก Gen AI ไปใช้ต่อ โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง และเพื่อความปลอดภัยควรต้องปรับ ดัดแปลง ข้อมูล เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือทรัพย์ทางปัญญาของผู้อื่น ซึ่งหากต้องนำไปใช้โดยไม่ได้ดัดแปลง ปรับแต่ง ก็ควรอ้างอิงที่มาข้อมูลดังกล่าว
- เลือกใช้แอป Gen AI อย่างระมัดระวัง: ส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่าการใช้แอป Gen AI ในมือถือ ก่อนโหลดมาใช้งานหรือสมัครใช้งาน ควรต้องตรวจสอบและพิจารณาให้ดีว่าเป็น Gen AI ตัวจริง เพราะปัจจุบันมีแอปที่ไม่ใช่ตัวจริงอยู่ด้วย ดังนั้นควรตรวจสอบ เช่น ดูโลโก้ต้องถูกต้อง ดูจำนวนผู้ใช้ต้องมีจำนวนมาก และต้องดูชื่อนักพัฒนาว่าเป็นชื่อบริษัทที่เราต้องการใช้บริการหรือไม่ ซึ่งใน App Store และ Play Store ต่างก็มีตัวปลอมอยู่ โดยตัวปลอม (ที่ต้องเสียเงิน) ก็สามารถใช้งานได้แต่ความสามารถไม่เท่าตัวจริง
ต้องมีนโยบายระดับประเทศ
- สร้างความตระหนักต่อประชาชน: ให้รู้ข้อดี ข้อควรระวัง การเกิดข้อมูลรั่วไหล และการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ตลอดจนการละเมิดลิขสิทธิ์
- ควรมีกฎหมาย: เพื่อเป็นกรอบการใช้งาน Gen AI และสร้างจริยธรรมในการใช้งาน มีบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิด
- ควรเจรจากับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ: ที่คนไทยใช้งาน เพื่อขอความร่วมมือให้สกัดกั้นโฆษณา และข้อมูลที่เป็นการหลอกลวง เพื่อลดโอกาสที่คนไทยจะต้องตกเป็นเหยื่อ
เลือกใช้ Gen AI ค่ายไหนดี?
ปัจจุบันมี Gen AI จากค่ายต่างๆ ออกมาหลายตัวเลือก ทำให้ผู้ใช้บางคนอาจจะเลือกไม่ถูกว่าควรใช้อะไร คำแนะนำในเบื้องต้น ของ อ.ปริญญา คือ “ต้องลองใช้ทุกค่าย เพื่อเปรียบเทียบความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการ” เพราะแต่ละคนหรือแต่ละงานมีโจทย์ที่แตกต่างกัน ซึ่ง Gen AI จากค่ายต่างๆ ก็มีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันด้วย ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT, Perplexity, Gemini และ Claude
จากการทดสอบส่วนตัวแล้ว อ.ปริญญาสรุปเบื้องต้น ไว้ดังนี้
ChatGPT =สรุปเนื้อหาได้ดีในภาพรวม แต่อาจมีข้อมูลอัปเดตไม่ล่าสุดถึงปัจจุบัน
Perplexity =ตอบคำถามประวัติของบุคคลได้ค่อนข้างแม่นยำ มีความถูกต้องสูงแต่ computing power ยังไม่มากเท่าค่ายอื่น
Gemini =เหมาะกับการสอบถามเป็นภาษาอังกฤษ และต้องการข้อมูลที่ up to date มากที่สุด
Claude =ลักษณะการคุยกับ AI ได้อารมณ์ความรู้สึกคล้ายคลึงกับการคุยกับมนุษย์ และเน้นเรื่อง AI Governance
ทั้งนี้คำสรุปดังกล่าวอาจไม่เหมาะกับทุกคน หนทางในการเลือกคือ “การทดลองใช้งาน Generative AI ด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจเลือกเป็นวิธีที่ขอแนะนำว่าดีที่สุด”
รู้หรือไม่?? ใช้ Gen AI อย่างไรให้ปลอดภัย