ทำความเข้าใจ GDC (Global Digital Compact) 8 เสาหลักในการสนับสนุนประเทศไทย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals)
สรุปผลจากการประชุม คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Commission on the Digital Economy) หอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce : ICC) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2566 ผู้เขียนได้มีโอกาสครั้งสำคัญโดยเป็นตัวแทนประเทศไทยในนามหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (International Chamber of Commerce Thailand) เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Commission on the Digital Economy) หอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce : ICC) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ Global Digital Economy
17 เป้าหมายของ SDGs กับประเด็นที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล
สำหรับบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญของโลกที่กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) เรื่อง SDGs (Sustainable Development Goals) ทั้ง 17 เป้าหมาย (Goals) ผู้ร่วมประชุมทุกท่านจากทั่วโลกกว่าหนึ่งร้อยประเทศมองว่าประเด็นเรื่อง Global Digital Compact (GDC) เป็นรากฐานสำคัญของเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ซึ่ง GDC เป็นประเด็นหลักในการประชุม ICC ในครั้งนี้
SDGs คืออะไร?
SDGs (Sustainable Development Goals) คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวทางที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่จะต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยองค์การสหประชาชาติมีเป้าหมายจะทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2573 (ใช้เวลาทั้งหมด 15 ปี) แก่นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) สามารถสรุปได้ด้วยวลีสั้นๆ ว่า “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมายหลัก ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงทั้ง 17 เป้าหมาย พร้อมกับหยิบยกเป้าหมายที่ตัวเองมองว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Digital Economy มาขยายความด้วย
ฉายมุมมอง 3 เป้าหมายสอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับเป้าหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาประกอบด้วยเป้าหมายที่ 8, 9 และ 10 ดังนี้
เป้าหมายที่ 8 Decent work and Economic Growth งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือทางด้านดิจิทัลเพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิผลที่ดีขึ้น และนำไปสู่ความยั่งยืนในการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป
เป้าหมายที่ 9 Industry, Innovation and Infrastructure อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
นับเป็นส่วนสำคัญในการนำไปสู่ความยั่งยืน โดยมีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทั้งด้านอุตสาหกรรม การเกิดนวัตกรรม ตลอดจนการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งและมีความยั่งยืน
เป้าหมายที่ 10 Reduced Inequalities การลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน สังคม เศรษฐกิจ ไม่เพียงแค่ด้านความเป็นอยู่ สุขภาพ สังคม ที่คุณจะต้องมีความเท่าเทียมกันแล้ว ในมุมของ Cybersecurity Literacy การลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเท่าเทียมกันนั้นยังหมายถึง เรื่องความมั่นคงปลอดภัย การได้ประโยชน์จากการใช้ไซเบอร์ การไม่ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว โดยในแวดวงไซเบอร์ ใช้คำว่า Digital Inequality โดยมีความสอดคล้องกับ Reduced Inequality
ขยายความ 17 เป้าหมาย SDGs
โดย SGDs ทั้ง 17 เป้าหมาย มีรายละเอียด ดังนี้
- No Poverty : ขจัดความยากจน ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะทำให้ความยากจนหมดไปได้ยาก แต่จะต้องทำให้ลดลงมากที่สุด เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์
- Zero Hunger : ขจัดความหิวโหย ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ
- Good Health and Well-being : สร้างหลักประกันด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ไม่อัตคัดขัดสนยากจน โดยทำให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ต่อทุกวัย
- Quality Education : สร้างหลักประกันด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ ต้องให้มนุษย์ทุกคนมีโอกาสทางการศึกษา ครอบคลุมทุกพื้นที่ มีความเท่าเทียมกัน และเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการศึกษา
- Gender Equality : สร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ ส่งเสริมความเข้มแข็งความเสมอภาคให้กับสตรีและเด็กผู้หญิง
- Clean Water and Sanitation : สร้างหลักประกันให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และได้รับสุขาภิบาลอย่างยั่งยืน
- Affordable and Clean Energy : สร้างหลักประกันให้มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกสมัยใหม่ได้ในราคาย่อมเยาหรือสามารถซื้อหามาใช้ได้
- Decent Work and Economic Growth : ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดการจ้างงานอย่างเต็มที่ และมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
- Industry, Innovation and Infrastructure : ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ให้เกิดความครอบคลุมในทุกมิติและมีความยั่งยืนต่อเนื่อง
- Reduced Inequalities : ลดความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เสมอภาคกันของมนุษย์ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
- Sustainable Cities and Communities : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความมั่นคงปลอดภัย มีความทั่วถึง และมีภูมิต้านทานอย่างยั่งยืน
- Responsible Consumption and Production : สร้างหลักประกันการบริโภคและการผลิตให้มีความสัมพันธ์และสอดคล้องซึ่งกันและกันอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีความสมดุลกันระหว่างการบริโภคและการผลิต
- Climate Action : แนวปฏิบัติด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่จะต้องร่วมกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น เรื่อง Carbon Credit เป็นต้น
- Life Below Water : การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- Life on Land : การป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ได้แก่ พื้นดิน ป่าไม้ ทรัพยากรดิน ตลอดจนทรัพยากรทางชีวภาพ
- Peace, Justice and Strong Institutions : ส่งเสริมให้สังคมโลกเข้าถึงความยุติธรรม สร้างกลไกที่เข้มแข็งด้านความยุติธรรมโดยการสร้างสถาบันขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบต่อภารกิจดังกล่าว
- Partnerships for The Goals : สร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านความร่วมมือระดับโลกเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือจะเกิดจากฝ่ายรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาสังคม
จากเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายนี้ทุกฝ่ายเล็งเห็นว่า การขับเคลื่อน SDGs จะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาด Global Digital Compact (GDC) เราจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการไปสู่เป้าหมายถึง 17 เป้าหมายดังกล่าว
หอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce : ICC) เร่งขับเคลื่อน Global Digital Compact (GDC) กรอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผลจากการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ประการ ทำให้สามองค์กรระดับโลก ได้แก่ UN, OECD และ ICC (หอการค้านานาชาติ) มีความเห็นตรงกันว่า การขับเคลื่อน SDGs ควรจะต้องมีกรอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน UN จึงได้กำหนดกรอบ Global Digital Compact (GDC) ออกมาเพื่อสนับสนุน SDGs
Global Digital Compact (GDC) เป็นกรอบแนวทางในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ ซึ่งสนับสนุนเป้าหมาย SDGs โดย GDC ประกอบไปด้วย 8 เรื่อง ดังหัวข้อด้านล่างนี้ ทั้งนี้เนื่องจากทุกฝ่ายเล็งเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษนี้
GDC กับกรอบ 8 เรื่องที่ต้องพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
ในศตวรรษนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีอินเทอร์เน็ตใช้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ และใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติทั่วไป โดยแทบจะไม่ต้องพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้วก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันเราเลยจุดนั้นมาแล้ว แต่ประเด็นที่น่ากลัวและควรจะต้องกล่าวถึงกลับกลายเป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านมืด รวมทั้งการใช้และได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมโลก ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายขององค์กรทั่วโลกจากหลายฝ่ายที่มีความพยายามให้มวลมนุษยชาติมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สอดคล้องเท่าเทียมกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
โดยกรอบ 8 เรื่องของ GDC ประกอบไปด้วย
1. Digital Inclusion and Connectivity : การสร้างสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนไม่ได้หมายความถึงเพียงแค่การใช้เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้อย่างมีความเท่าเทียมกัน มีความทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ เกิดความคุ้มค่า นำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยควรต้องจัดการกับช่องว่างทางดิจิทัลทั้งเรื่องทักษะ ภาษา และเนื้อหา
2. Internet Governance : ความจำเป็นต่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เพราะปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมีการใช้งานร่วมกันหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายรัฐบาล เอกชน และประชาสังคม จึงควรจะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกันด้วยความสันติสุข และจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาล หรือหลักการบริหารจัดการที่ดี มีกระบวนการในการกำหนดหลักการใช้งานอินเทอร์เน็ต มีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเกิดความราบรื่น
3. Data Protection : สังคมดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดข้อมูลและมีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์กันอย่างมาก ซึ่งในบางกรณีมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นจึงต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงการปกป้องข้อมูลส่วนตัวและความเป็นส่วนตัว โดยข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในองค์กรหรือหน่วยงานควรจะต้องมีกระบวนการในการเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการประมวลผลให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยองค์กรจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย GDPR และสำหรับองค์กรในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA (ซึ่ง DP ที่อยู่ในกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นย่อมาจาก Data Protection)
4. Human Rights Online : มนุษย์ทุกคนที่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ ควรได้สิทธิ์พื้นฐานเดียวกันกับการใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ นั่นหมายความว่าสิทธิมนุษยชนบนออนไลน์ควรต้องมีความเชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันกับโลกออฟไลน์ โดยสิทธิมนุษยชนบนโลกออนไลน์นั้นควรจะต้องครอบคลุมถึงการถูกปั่นความคิดใน Social Media การหลอกลวงในรูปแบบของ Information Disorder ด้วย (Information Disorder ประกอบด้วย Misinformation หรือข้อมูลที่ผิด Disinformation หรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือน และ Malinformation หรือข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย)
5. Digital Trust and Security : เรื่องความไว้วางใจและความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล ในที่ประชุมล่าสุดกล่าวถึง Cybersecurity โดยปัจจุบันความไว้วางใจและความปลอดภัยทางดิจิทัล มีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจและใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการรักษาความไว้วางใจในโลกดิจิทัลเป็นงานที่ซับซ้อน เนื่องจากมีการใช้ไซเบอร์สเปซมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ต้องให้ความสำคัญยิ่งยวดเช่นกัน ดังนั้นการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับข้อมูลความเป็นส่วนตัว การเข้ารหัสเพื่อความปลอดภัย ความปลอดภัยของเครือข่าย และความสามารถในการจัดการกับความเสี่ยงจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้อย่างรู้เท่าทันและทันท่วงที
6. AI and other Emerging Technologies : ด้วยศักยภาพที่ชาญฉลาดของ AI ทำให้ปัจจุบันมีการใช้ AI กันอย่างแพร่หลาย ที่พบเห็นกันอย่างมากมายคือการใช้ AI อย่างไร้คุณธรรม เช่น ใช้ AI ในการสร้าง Clip Deep Fake ตัดต่อใบหน้าผู้นำระดับโลกแล้วให้พูดเรื่องไม่จริง สร้างความเสียหายและสับสนต่อสังคมโลก นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีอุบัติใหม่ไปประยุกต์ใช้ในเชิงลบด้วย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Blockchain, Quantum Computing, AR/VR ซึ่งการใช้เทคโนโลยีอย่างไร้คุณธรรมจำเป็นจะต้องมีการจัดการประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจังและรัดกุม รวมถึงการใช้ Generative AI อย่างเช่น ChatGPT อย่างมีคุณธรรมและอยู่ในสภาวะที่กฏหมายสามารถควบคุมการใช้งาน Generative AI ได้
7. Global Digital Commons : การให้ความสำคัญกับระบบเปิด เพื่อให้เกิดการแบ่งปันอย่างอิสระ เช่น ส่งเสริมมาตรฐานแบบเปิด ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ข้อมูลเปิด แบบจำลอง AI แบบเปิด รวมไปถึงเนื้อหาแบบเปิด เพื่อให้เกิดประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล แหล่งข้อมูลเหล่านี้เรียกว่า Digital Commons มีการเรียกร้องให้รัฐบาล เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคมทำงานเพื่อสร้างรูปแบบความร่วมมือใหม่ๆ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในกรอบแนวทางและกฎเกณฑ์สากล
8. Accelerating Progress Towards The SDGs : กระบวนการเร่งรัดต่อการขับเคลื่อนกรอบแนวทางในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ประการ โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ทั่วถึง เสมอภาค และยั่งยืนเป็นงานที่ต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งทุกฝ่ายควรต้องให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงปลอดภัย การมีความเป็นส่วนตัว ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องคำนึงถึงส่วนรวมและประชาสังคมเป็นเป้าหมายสำคัญ
กล่าวโดยสรุป สำหรับ GDC ทั้ง 8 ประการนี้ ต่อคำถามที่ว่าในมุมของประชาชนควรเตรียมตัวอย่างไร ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกท่านอ่านข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อหาความรู้และทำความเข้าใจ รวมทั้งเข้าไปดู Use Case และถกกับผู้รู้หรือผู้ร่วมงาน ซึ่งสามารถจะเปรียบเทียบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนด้านการแก้ปัญหานั้น ในเบื้องต้นควรจะจัดการกับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เช่น ตั้งค่ามือถือให้ปลอดภัย รวมทั้งดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
ในโอกาสที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมหอการค้านานาชาติ หรือ International Chamber of Commerce เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2566 ณ กรุงปารีส ผู้เขียนขอขอบคุณ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ที่ให้โอกาสผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกในครั้งนี้ และเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองต่างๆ ในระดับสากลกว่าหนึ่งร้อยประเทศ โดยในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสามเรื่องหลัก ได้แก่ Cybersecurity, Data Governance และ Connectivity and Access รวมทั้งได้หยิบยกเรื่ิอง Global Digital Compact (GDC) มาหารือร่วมกันก่อนการประชุมสหประชาชาติ SDG Summit 2023 ที่กำลังจะมาถึงในเดือนกันยายนนี้ที่มหานครนิวยอร์ค ในบทความนี้จึงนำบางส่วนมาถ่ายทอดเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อชาวไทยทุกท่านโดยท่านจะได้รับทราบทิศทางของโลกเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างถูกต้องและยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติต่อไป