Others

ความจำเป็นที่จะต้องรู้ทันด้านมืดของ AI

การดำเนินชีวิตประจำวันในทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามี AI อยู่รอบตัว ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน โดยที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามี AI อยู่เบื้องหลังการทำงานต่างๆ มากมายในแต่ละวัน 

AI (Artificial Intelligent) หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำงานด้านการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ชาญฉลาดสามารถที่จะ “คิด เรียนรู้ และโต้ตอบกับมนุษย์ได้” กล่าวกันว่าปัจจุบัน AI มีความเฉลียวฉลาดเทียบเท่ากับเด็กอายุ 7-8 ปี ด้วยความชาญฉลาดของ AI ที่ใกล้เคียงมนุษย์เข้ามาทุกที ทำให้มีการนำ AI มาใช้งานในอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนโครงการต่างๆ มากมาย โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพงานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นอีกมากมาย เพราะ AI สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในเชิงการตลาดได้เป็นอย่างดี

หากแต่เราอาจจะยังไม่ตระหนักรู้ว่า AI ถูกนำไปใช้ทั้งในด้านมืดและด้านสว่าง ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงการนำไปใช้ในด้านมืดที่อาจส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้คน รวมทั้งนำเสนอคำแนะนำหรือแนวทางปฏิบัติไว้ให้ในที่นี้ด้วย

การใช้ AI ในด้านมืด ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเรื่อง การถูกเอาเปรียบด้วยการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการแสวงผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยที่เราอาจไม่ทราบมาก่อนเลย

การถูกเอาเปรียบด้วยการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการแสวงผลประโยชน์ทางธุรกิจ

จากการที่แพลตฟอร์มต่างๆ นำข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรม ความชอบ และความสนใจ ตลอดจนข้อมูลสถานที่ที่เราไปปฏิบัติภารกิจใดๆ เจ้าของแพลตฟอร์มได้ใช้ AI เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์เพื่อหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ นั่นหมายความว่า แพลตฟอร์มนำข้อมูลดังกล่าวของเราไปหาเงินหรือหารายได้ในรูปแบบต่างๆ โดยที่เรากลับไม่ได้ผลประโยชน์เหล่านั้นแต่อย่างใด

อีกทั้งเรายังอาจจะตกเป็นเหยื่อทางการตลาด และการโฆษณาชวนเชื่อ ที่แฝงมากับโซเชียลมีเดีย ซึ่งกรณีนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเอาเปรียบ เนื่องจากเราผู้เป็นเจ้าของข้อมูลไม่ได้ประโยชน์ใดๆ แต่กลับถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาผลประโยชน์อีกด้วย

เหตุการณ์ตัวอย่าง

พ่อและลูกอยู่บ้านเดียวกัน ดู YouTube พร้อมกันใน Smartphone ของแต่ละคน โดยถูกนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือพ่อและลูกใช้คำค้นหาเดียวกันเพื่อค้นข้อมูล “โรงแรมในกรุงเทพฯ (Hotel Bangkok)” จะได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน โดยพ่ออาจได้รับการนำเสนอโรงแรมในราคา 2,000 บาทขึ้นไป ในขณะที่ลูกอาจได้รับการนำเสนอโรงแรมในราคาน้อยกว่า 1,000 บาท แต่ซ้ำร้าย หาก Search หาโรงแรมเดียวกันในวันเดียวกัน โดยเลือก Room Type เดียวกัน พ่อและลูกอาจได้ราคาที่แตกต่างกันอีกด้วย โดยพ่ออาจได้ราคาที่สูงกว่าลูก เป็นต้น เหตุการณ์เช่นนี้ เป็นการนำเสนอโดย AI จากที่ได้เรียนรู้ข้อมูลบุคคลของแต่ละคนนั่นเอง  เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Filter Bubble Effect”  

คำแนะนำ

จากความน่ากลัวของการนำ AI มาใช้ในด้านมืดที่กล่าวมานี้ เราจึงควรจะต้องใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน เพื่อไม่ให้ถูกชักนำ หรือถูกเอาเปรียบ โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอ 3  แนวปฏิบัติ ดังนี้

  1. ไม่ให้ Identity ของเราไปปรากฏอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ หากไม่จำเป็น :

เนื่องจาก Identity เป็นการแสดงตัวตนของบุคคลแต่ละคน ทำให้แพลตฟอร์มสามารถติดตามการใช้งานของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีการ Login ด้วยอีเมลเพื่อเข้าใช้ Google เมื่อเราทำการค้นหาข้อมูลหรือ Search ข้อมูล ทำให้ AI ของ Google สามารถที่จะดึงประวัติการใช้งานของเรา ซึ่งจะบ่งบอกถึงพฤติกรรม ความชอบ ตลอดจนฐานะ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล จากนั้นจึงจะแสดงผลลัพธ์มาให้เรา โดยการทำ Personalization เฉพาะบุคคล

ในทางกลับกันหากเราไม่ Login ที่เป็นการระบุตัวตนเข้าใช้งาน เมื่อทำการค้นหาข้อมูล AI ก็ไม่สามารถที่จะนำข้อมูลประวัติการใช้งานมาวิเคราะห์ เพื่อแสดงผลลัพธ์ในลักษณะของการทำ Personalization เฉพาะบุคคลได้

2. รู้เท่าทันด้วยการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ แหล่งประกอบการตัดสินใจ :

คอนเทนต์และข้อมูลต่างๆ ที่อยู่บนโลกดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น Google, YouTube, Facebook และสื่อโซเชียลอื่นๆ ซึ่งรวมถึงคอนเทนต์จากผู้คนทั่วไปที่นำเสนอออกมา มีการแชร์ต่อสาธารณะ ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายจนเรียกได้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่มีข้อมูลล้นโลก โดยคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกมานั้น มีทั้งข้อมูลที่เป็นจริงและมีทั้งข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรือเจตนาร้ายก็ตาม ดังนั้นการเสพข้อมูลจึงควรที่จะไตร่ตรองให้ดีและมีการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ แหล่งเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน AI ถูกนำไปใช้ในด้านมืดจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Half-truth, Fake News หรือ Filter Bubble Effect ต่างใช้ AI ในด้านมืดทั้งสิ้น

3. ความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการนำ AI มาใช้ในอนาคต : 

คำแนะนำนี้อาจจะไม่ใช่แนวปฏิบัติของประชาชน หากแต่เป็นแนวทางที่ขอนำเสนอต่อรัฐบาล โดยควรจัดทำกฎหมายให้เป็นข้อกำหนดหรือมาตรการในการกำกับดูแลการนำ AI ไปใช้ในด้านมืด หรือนำไปใช้ในเชิงของการชักนำความคิด และใช้ในเชิงของการเอาเปรียบ ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ในแถบยุโรปได้มีการประกาศตรากฎหมายด้าน AI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สรุปได้ว่า AI มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน หาก AI เหล่านั้นแฝงมาด้วยผลประโยชน์ก็จะชักจูงนำพาให้คนดำเนินชีวิตไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ดังนั้นมนุษย์ทุกคนควรจะต้อง “มีสติ และ แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา” เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ AI ที่ถูกใช้ในด้านมืดดังกล่าว