ความจริงเรื่อง “เอกราชอธิปไตยไซเบอร์” (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 18 มีนาคม 2563
จริงหรือที่ในโลกไซเบอร์ประเทศต่างๆ ยังมี “เอกราชอธิปไตย” แต่ทำไมจึงมีการรุกรานทางความคิด ความเชื่อ จากการใช้งานโซเซียลมีเดียและ Search Engine ที่ค่อยๆ ส่งข้อมูลเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและละเมิดความเป็นส่วนตัวของเราโดยไม่รู้ตัว แล้วนั่นคือ การล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่หรือไม่?
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน “สี จิ้นผิง” ได้กล่าวเสมอในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกเกี่ยวกับปัญหา “อธิปไตยไซเบอร์” หรือ“Cyber Sovereignty” ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
ท่านกล่าวว่า ทุกประเทศทั่วโลกมีสิทธิ์ที่จะกำหนดนโยบายด้านไซเบอร์ในประเทศของตน เพื่อป้องกันการรุกรานโดยต่างชาติในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้กำลังทางทหารหรือกระสุนแม้แต่เพียงนัดเดียว แต่เป็นการรุกรานหรือการล่าอาณานิคมในรูปแบบใหม่ ที่ประชาชนในประเทศกลายเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้รับรู้ว่ากำลังถูกรุกรานอยู่
เนื่องการรุกรานดังกล่าวไม่ต้องใช้กำลังแต่อย่างใด เป็นการรุกรานทางความคิด ความเชื่อ ค่อยๆ ส่งข้อมูลเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชาติอย่างต่อเนื่อง
เราคงเคยเห็นกันจากประสบการณ์ “Arab Spring” ในตะวันออกกลางมาแล้ว มีผลต่อการเลือกตั้ง มีผลต่อการเมืองการปกครอง โดยภัยจากการรุกรานเข้ามาเปลี่ยนความคิดดังกล่าวนั้น ซึ่งน่ากลัวยิ่งกว่าภัยจากการแฮกของแฮกเกอร์เสียอีก เนื่องจากแฮกเกอร์จะเข้าระบบเพื่อดึงข้อมูล หรือทำให้ระบบล่มที่เราเห็นปัญหามัลแวร์กันอยู่เป็นประจำ
หากแต่การเจาะเข้าไปในจิตใจของมนุษย์ไปปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ทำให้ชอบหรือไม่ชอบ รักหรือเกลียดในบุคคล ในสินค้าและบริการ ในบริษัทต่างๆ ตลอดจนในตัวผู้นำของแต่ละประเทศ ทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ และส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของชาติหรือ “National Security” ในที่สุด
ปัจจุบันคำว่า “Digital Economy” จึงกลายเป็นคำที่ล้าสมัยไปแล้ว จากที่พบว่า ดอน แท็ปสก็อตต์ ได้แต่งหนังสือ “Digital Economy” ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนสำนักพิมพ์เพิ่งออกหนังสือเล่มใหม่ฉลองครบรอบยี่สิบปีเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งก็คือหนังสือเล่มดัง “Blockchain Revolution : How the Technology Behind Bitcoin Is Changing Money, Business, and the World”
ดังนั้น “Digital Economy” จึงไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
แต่เรากำลังพูดถึง Buzzword คำใหม่ที่กำลังมาแรงนั่นก็คือ “Data Economy” หรือ “Data-Driven Economy”
ความหมายของ “Data-Driven” หรือ “Data Economy” แปลความแบบง่ายๆ ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่อุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือโซเซียลมีเดีย
ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าชีวิตมีความสะดวกสบายขึ้น เราใช้งานโปรแกรมโซเซียลมีเดีย และ Search Engine ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เราส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เห็นด้านมืดของโปรแกรมเหล่านี้จริงๆ
ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ยังคงเป็นจริงเสมอ จึงกล่าวได้ว่า เราใช้ของฟรีก็จริง แต่เรากำลังจ่ายด้วย “ความเป็นส่วนตัวของเรา” (Our Privacy) โดยไม่รู้ตัว