เปิดสาระสำคัญกฎหมายคอมพิวเตอร์ (ตอนที่ 5)
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 13 พฤศจิกายน 2562
ในประเด็นเรื่องระยะเวลาจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ได้แก้ไขให้เหมาะสมและสอดคล้องกับในทางปฏิบัติ
2.2. ระยะเวลาจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสม
สำหรับการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีการจัดเก็บไม่น้อยกว่า 90 วัน รวมถึงมีการออกหลักเกณฑ์ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ตามประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้น
มีข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายเหล่านี้ ยังไม่สามารถนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการสร้างภาระเพิ่มเติมแก่ผู้ให้บริการ จึงมีการเสนอให้ทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประเภทของผู้ให้บริการที่ต้องจัดเก็บข้อมูลจราจร มาตรฐานข้อมูลจราจรที่ต้องจัดเก็บและระยะเวลาในการจัดเก็บที่เหมาะสมและสอดคล้องในทางปฏิบัติ
นอกจากนี้ในประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ตามประเภทธุรกิจบริการและการกำหนด ขั้นตอน และมาตรฐานการจัดเก็บที่มีความชัดเจนนั้น เนื่องจากเทคโนโลยีและรูปแบบการให้บริการมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การจะกำหนดรายละเอียดไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงอาจทำให้ยากต่อการแก้ไขให้ทันกับเทคโนโลยี
ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยคงหลักการในการกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 90 วันไว้ โดยกำหนดให้เป็นระยะเวลาขั้นต่ำในการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และเปิดช่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวเกินกว่า 90 วันได้
ข้อความเดิมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
“มาตรา 26 ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการ ผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกิน 90 วันแต่ไม่เกิน 1 ปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และเฉพาะคราวก็ได้”
ข้อความปรับปรุงแก้ไขใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
มาตรา 17 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 26 ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่า 90 วัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็น พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกิน 90 วันแต่ไม่เกิน 2 ปีเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย และเฉพาะคราวก็ได้”
กรุณาติดตามต่อในตอนที่ 6 นะครับ