10 แนวโน้มดิจิทัล ปี 2018 (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ: 9 พฤษภาคม 2561
10 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในปี 2018
Top Ten Cybersecurity Trends and Threat Predictions Through 2018
ในปี 2018 มีการคาดการณ์แนวโน้มด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไว้ 10 แนวโน้ม ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นในตอนที่ 1 นี้ และส่วนที่เหลือในตอนต่อไป
1. หมดยุคแห่งการใช้ “ชื่อผู้ใช้” และ “รหัสผ่าน” ในการเข้าใช้บริการบนคลาวด์
Two-Factor Authentication will be “Default” for all cloud services
ในปัจจุบันบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟรีอีเมล ฟรีโซเชียลมีเดีย ฟรีคลาวด์ไดรฟ์ ล้วนเก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์ทั้งสิ้น เมื่อผู้ใช้บริการต้องการใช้งานข้อมูลก็จะทำการ Login/Sign in เข้าระบบโดยใช้เพียงชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านในการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งปัจจุบันชื่อผู้ใช้ก็คือ e-Mail Address หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ ที่แฮกเกอร์สามารถหาได้อย่างไม่ยากเย็น
การเข้าใช้งาน “การพิสูจน์ตัวตนแบบสองชั้น” (Two-Factor Authentication/Two-Step Verification) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรตั้งให้เป็นค่า โดยกำหนด (Default) เพื่อให้แฮกเกอร์ต้องออกแรงมากขึ้นในการเจาะบัญชีผู้ใช้ระบบของเรา เป็นการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยให้กับข้อมูลของเรามากขึ้น โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่ประการใด
2. จากยุค “Digital Economy” เข้าสู่ยุค “Data Economy”
“Digital Economy” will change to “Data Economy” as Cyber Sovereignty become a hidden threat that lead to long term National Security Problem
ปัญหาเรื่อง “อธิปไตยไซเบอร์” (Cyber Sovereignty) เกิดจากการที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ (Tech Giant) ผู้ให้บริการ Cloud Services กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลของประชาชนส่วนใหญ่ในโลกเพื่อทำการประมวลผลให้ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ
การเก็บข้อมูลในไซเบอร์สเปซ ปัจจุบันและอนาคตคล้ายจะกลับไปรวมศูนย์อีกครั้ง ทำให้เกิดความได้เปรียบในทางธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของชาติในระยะยาว
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้อง “รู้เท่าทัน” เรียนรู้และปรับตัว เพราะนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
3. ปัญหาความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลจะรุนแรงมากขึ้น
Personal Data Privacy threats on mobile/cloud/social media services will grow exponentially.
สมาร์ทโฟนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตมากขึ้น โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันเราก็กำลังเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราลงในระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการโซเซียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา
จากพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้ข้อมูลของเรารั่วไหลออกไป โดยที่เรา “ตั้งใจ” และ “ไม่ตั้งใจ” ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบุคคล ครอบครัว วงศ์ตระกูล องค์กร และประเทศชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4.การใช้บริการคลาวด์จะได้รับความนิยมมากขึ้น และองค์กรจะนำข้อมูลสำคัญขึ้นสู่คลาวด์ ส่งผลกระทบเรื่องข้อมูลลูกค้ารั่วไหลและส่งผลกระทบต่อองค์กรในระยะยาว
Cloud Data Governance will become critical as Cloud Computing follows the “WHEN” not “IF” security paradigm, and Cloud Security and Privacy will become the Enterprises’ top priorities due to increases in data leakage incidents via Shadow IT.
ปัญหาข้อมูลที่มีความสำคัญขององค์กรรั่วไหลจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จากความมั่นใจในการใช้บริการคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ เรื่อง “Security” และ “Privacy” จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหารระดับสูง
หากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอ รวมถึงพนักงานในองค์กรจะนิยมเก็บข้อมูลไว้ในบริการคลาวด์ ที่เรียกว่า “Shadow IT” หรือ “Shadow Data” จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการควบคุมระบบที่มีช่องโหว่ ดังนั้นนโยบายมาตรฐานและกระบวนการด้านความมั่นคงปลอดภัยข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติ
5. การนำเทคโนโลยี “Big Data” และ “AI” มาใช้ในทางด้านมืด
The use of demographic techniques will shift to psychographic techniques, and the use of Big Data along with AI become key to influencing human behaviors.
ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี Big Data และ AI มาใช้ในการ “เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” ผู้บริโภค โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูก “Hijacking Mind” ผ่านทางโซเชียลมีเดียและสมาร์ทโฟน
ดังนั้นประชาชนควรตระหนักและรับรู้ว่าการเสพข้อมูลข่าวสารบนสมาร์ทโฟนต้องใช้ความระมัดระวัง และควรค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องเสียก่อนที่จะ “แชร์” หรือ “เชื่อ” จนส่งผลกระทบต่อความคิดและพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราในที่สุด
โปรดอ่านอีก 5 ประเด็นในตอนต่อไป