วันนี้เราเข้าใจความหมาย “Digital Transformation” หรือยัง?
ตีพิมพ์: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ : 10 กรกฎาคม 2562
การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ “Digital Transformation” จำเป็นต้องทำความเข้าใจสภาวะไซเบอร์ และไม่ใช่แค่เพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องคำนึงถึงลูกค้า การสร้างมูลค่าเพิ่ม คู่แข่ง นวัตกรรม และการบริหารจัดการข้อมูลที่ดีด้วย
ช่วงนี้เราได้ยิน “Thailand 4.0” หรือ “The 4th Industrial Revolution” กันอยู่เป็นประจำ
หากแต่หลายท่านยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของ Buzzword ดังกล่าว
หลายปีที่ผ่านมา โลกของเราอยู่ในยุคที่ 3 ที่นิยมเรียกว่า ยุคอินเทอร์เน็ต หรือยุค “Information Age” หากแต่ในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคที่ 4 ที่เรียกว่า ยุคไซเบอร์ หรือ “Cyber Age” ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง 4 ที่ Gartner เรียกว่า The Nexus of Disruptive Forces (ดูรูปที่ 2)หรือ S-M-C-I (Social, Mobile, Cloud and Big Data)
รูปที่ 2 : The Nexus of Disruptive Forces หรือ S-M-C-I (Social Mobile Cloud and Big Data), Source : Gartner
รูปที่ 3 : Top Five Disruptive Technology, Source: ACIS research
ในขณะเดียวกันโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ทำให้เกิด Disruptive Technology ใน 5 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ 1. AI and Machine Learning 2. IoT (Internet of Things) 3. Big Data Analytics 4. Blockchain 5. Cybersecurity, Cyber Resilience และ Data Privacy
เมื่อพิจารณา Disruptive Technology โดยละเอียดแล้ว พบว่า Cybersecurity, Cyber Resilience และ Data Privacy ล้วนเป็นรากฐาน หรือ Foundation ของ Disruptive Tech ดังกล่าว (ดูรูปที่ 3)
การให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง คือ Cybersecurity, Cyber Resilience และ Data Privacy นั้นเปรียบเสมือนการสร้างบ้านให้มีเสาเข็มที่แข็งแรง
ดังนั้นรัฐบาลในหลายๆ ประเทศรวมทั้งรัฐบาลไทย จึงให้ความสำคัญกับเรื่อง “Cybersecurity” และ “Data Privacy” โดยเฉพาะรัฐบาลไทย จึงได้ตราพระราชบัญญัติ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งหลายประเทศในโลกได้มีการบังคับใช้ Cybersecurity Act และ Data Protection Act ดังกล่าวเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ “Digital Transformation” จำเป็นต้องทำความเข้าใจสภาวะไซเบอร์จากองค์ประกอบ Disruptive Forces ทั้งสี่ และ Disruptive Technologies ทั้ง 5 เสียก่อน เพื่อให้เข้าใจถึง “สภาวะไซเบอร์” ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็น “Infrastructure” หรือโครงสร้างพื้นฐาน
ในปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจาก Digital Economy ไปสู่ Data Economy และกำลังเปลี่ยนแปลงจาก Data Economy ไปสู่ Crypto Economy (ดูรูปที่ 4)
ยกตัวอย่าง Facebook ประกาศออกเหรียญคริปโต “Libra” ซึ่งส่งผลต่อรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก อาจส่งผลให้เกิดปัญหา “Cyber Sovereignty” หรือ “อธิปไตยไซเบอร์” ได้ในอนาคต
รูปที่ 4 : The Four Gen Economy, Source: ACIS research
ความแตกต่างของ “Disruptive Technology” และ “Digital Transformation” คือ หากเราอยู่เฉยๆ ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย เรายังมีผลประทบจาก “Disruptive Technology” อยู่ดี เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่รอบตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างผู้ขับขี่แท็กซี่ป้ายเหลืองถูกกระทบโดยผู้ขับรถส่วนตัวให้บริการร่วมกับ GRAB หรือ UBER หรือผู้ประกอบการโรงแรมได้รับอนุญาตได้รับผลกระทบทางการให้บริการที่พักแบบ Sharing Economy ของ AIRBNB เป็นต้น
รวมถึงธนาคารได้รับผลกระทบจาก Banking 4.0 หรือ ที่หลายคนชอบกล่าวว่า “Banking is Everywhere except Bank”
การมาถึงของ Blockchain และ Cryptocurrency ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินทั่วโลก
ยกตัวอย่าง เช่น การเปิดตัว LIBRA ของ Facebook เป็นต้น (ดูรูปที่ 5) ล้วนเป็นบริษัทที่มีรายได้จากการเป็น “ตัวกลางในรูปแบบใหม่” มีการให้บริการแพลตฟอร์มที่มีการหักค่าธรรมเนียมจากผู้ให้หรือผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น VISA, MASTER, UBER, PAYPAL หรือ BOOKING ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนเป็นรูปแบบใหม่ในการทำธุรกิจในยุค “Data Economy/Sharing Economy”
รูปที่ 5 : The Founding partners of the Libra Association
Digitalization หรือ Digitization? แท้จริงแล้วหัวใจของคำนี้ อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “Digitalization” ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ “Digitization” เช่น การเปลี่ยนแปลงแค่เพียงการเปลี่ยนจากกระดาษสู่คอมพิวเตอร์ หรือการเปลี่ยนแปลงจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล
หากแต่ “Digitalization” หมายถึง การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ของลูกค้า (Customer Experience) ให้มีประสิทธิภาพ ส่งมอบมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ไม่ใช่แค่เพียงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในมุมมองของนักเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องคำนึงถึงลูกค้า การสร้างมูลค่าเพิ่ม คู่แข่ง นวัตกรรม และการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี ด้วย
ในปัจจุบันคำว่า “IT” ควรปรับเปลี่ยนเป็นคำว่า “I & T” ซึ่งหมายถึง เราจะมอง “IT” เป็นเรื่องเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป
หากแต่ต้องแยก “Information” ออกจาก “Technology” เราควรให้ความสำคัญกับ “Information” มากขึ้น เพราะในที่สุดแล้วเป้าหมายที่ทุกองค์กรต้องการ คือ “Information” ส่วน “Technology” นั้นคือเครื่องมือที่จะช่วยบริหารจัดการ “Information” ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ขณะเดียวกันองค์กรต้องคำนึงถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลอีกด้วย